มหิดล และ อว. แถลวข่าวเปิดศูนย์วิจัย AI แห่งใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล หรือ MU AI Center” เพื่อขับเคลื่อนการค้นคว้า และวิจัยด้านการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จีโนมิกส์ โปรตีโอมิกส์ พยาธิวิทยา และรังสีวิทยา
วันนี้ 2 มีนาคม 2565 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล หรือ MU AI Center” เพื่อขับเคลื่อนการค้นคว้า และวิจัยด้านการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จีโนมิกส์ โปรตีโอมิกส์ พยาธิวิทยา และรังสีวิทยา ซึ่งสถาบันฯ นี้จัดตั้งอยู่ที่ ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม โดยเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยแบบ Federated Learning และช่วยให้นักวิจัยสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในโลกบนแพลตฟอร์มที่ทันสมัย ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในขั้นต้นสถาบันฯ จะสนับสนุนโครงการต่างๆ จากกลุ่มความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัย ทางการแพทย์ด้วย AI, ศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และแพลตฟอร์มการค้นคว้ายาแบบบูรณาการด้วยปัญญาประดิษฐ์ ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และวิทยาลัยราชสุดา ตามลำดับ ในระยะเริ่มต้น และจะขยายไปคณะและสถาบันอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า บทบาทของกระทรวง อว. ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนทิศทางในด้านต่างๆ ในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้สามารถดำเนินการได้ อยากจะเรียกว่า เราทำทั้งสองด้าน ด้านที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ของประเทศ ด้านที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยเป็นกลไกที่สำคัญ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนอุดมศึกษาเพื่อความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา ผลิตบุคลากรเฉพาะด้าน พัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านที่มีความเป็นเลิศและประเทศต้องการ
สำหรับสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล เป็นเครื่องมือที่สำคัญของนิสิตมหิดล กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินการในภารกิจเฉพาะด้านที่ตรงกับความต้องการประเทศ ตรงกับความต้องการของเทคโนโลยี ต้องอาศัยการประสานงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันในทุกๆ เรื่อง ทุกคณะ ทุกหน่วยงาน ถ้าเป็นไปได้ก็ทุกมหาวิทยาลัยด้วย รวมทั้งการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับสถาบันวิจัย ซึ่งอยู่ในโครงสร้างกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็อยู่ในกระทรวง อว. รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการบริการ
“ขอฝากว่า ท่านคือความหวัง พอเราเปิดสถาบันฯ แล้ว หวังว่าจะเกิดงานขึ้นอย่างรวดเร็วและทันที ฉะนั้นหากมีประเด็นใดที่ทางกระทรวงช่วยอำนวยความสะดวก ประสานงานช่วยขับเคลื่อนได้ก็ยินดี ขอให้การดำเนินงานเสร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ และนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมดิจิทัล และก็สังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว” ปลัด อว. กล่าว
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล จะเป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมและผู้ประกอบการใหม่ที่มีแนวคิดในเรื่องการบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าแก่ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมีความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถและศักยภาพในการเรียนรู้ทักษะใหม่และก้าวหน้าเติบโตโดยผ่านกระบวนการเรียนการสอน โดยการเรียนรู้แบบไม่จำกัดไม่เฉพาะในห้องเรียน แต่มีการผสมผสานทั้งการเรียนในชั้นเรียน การเรียนออนไลน์ ระหว่างที่เรียนยังสามารถเก็บ เครดิตและใบรับรองเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาขั้นสูงต่อไปได้ในอนาคต ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้าและเชี่ยวชาญในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์และ สุขภาพในทุกสาขา ตัวอย่างเช่น การใช้ AI สำหรับการเอกซเรย์ก้อนเนื้อ การใช้ AI เพื่อใช้ในทำนายความเสี่ยงต่อ การติดเชื้อ Covid-19 โดยใช้ข้อมูลจากระดับประชากร และระดับเซลล์เดี่ยว การใช้ AI เพื่อใช้ในทำนายความเสี่ยง และการดำเนินโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคมะเร็ง และการใช้ AI เพื่อวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิต ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเราได้มองไกลไป ถึงการสร้างผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
สำหรับการดำเนินงานของสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีการดำเนินกิจกรรม ผ่านโครงการย่อยไปแล้วหลายส่วน ตั้งแต่การออกแบบและติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างพื้นฐานขั้น สูง ที่รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นทั้งหมด การส่งเสริมให้เกิดโครงการวิจัยแบบบูรณาการกับหน่วยงาน ภายในมหาวิทยาลัยและคู่ความร่วมมือภายนอก ทั้งมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และมหาวิทยาลัยชั้นนำจาก ต่างประเทศอีกหลายแห่ง และการจัดอบรมให้ความรู้การใช้ AI ด้วยระบบ NVIDIA DGX A100 และ แพลตฟอร์ม Clara Imaging และ MONAI (Medical Open Network for AI และ FLARE) สำหรับการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธ์ เพื่อคิดค้นและเร่งการสร้างแบบจำลอง AI เพื่อการใช้งานจริง ซึ่งสถาบันฯ เตรียมเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 นี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.