ครั้งแรกของไทย “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” ตอกย้ำคุณค่า พ.ร.บ. ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฉบับใหม่ ปลดล็อกความเป็นเจ้าของ ให้ต่อยอด และใช้งานได้จริง
(4 เมษายน 2565) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวม 17 หน่วยงาน จัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย หรือ TRIUP Fair 2022” ระหว่างวันที่ 4 - 6 เมษายน 2565 ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ เพื่อสื่อสารให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิจัย ประชาคมวิจัย ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักรู้และเล็งเห็นคุณูปการของ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” ร่วมกันปลดล็อคผลงานวิจัยของประเทศไทย ให้เติบโตและเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. คณะผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ประธานพิธีเปิดงาน กล่าวถึงที่มาของการผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พ.ร.บ. ฉบับใหม่ และ การจัดงาน TRIUP Fair 2022 ว่า “ประเทศของเรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม แต่ยังพบอุปสรรคและเป็นปัญหามานานนับ 10 ปี ที่ทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้รับการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นการมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากงบประมาณสนับสนุนของภาครัฐจนเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐที่มีหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุน ผู้รับทุนหรือนักวิจัยมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่ง พ.ร.บ. นี้จะทำให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ อีกทั้งยังเสริมสร้างขีดความสามารถพัฒนาให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ตลอดจนภาคการผลิต ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น
ดังเช่นการจัดแสดงผลงานวิจัย ที่ได้รับรางวัล Prime Minister's TRIUP Awards for Research Utilization with High Impact หรือรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูงประจำปี 2565 ตามเกณฑ์การพิจารณาผลงาน ด้วยวิธีการลงคะแนนร่วมกับการอภิปรายความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ จำนวน 19 ท่าน จากผลงานทั้งหมดที่ผ่านการพิจารณา 119 โครงการ ได้แก่
1. สาขาเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)
รางวัลระดับยอดเยี่ยม ได้แก่ผลงาน “เทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้เพื่อการจัดการโรคอุบัติใหม่สำหรับฟาร์มปลานิลและปลานิลแดงในประเทศไทยและต่างประเทศ” ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรี และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน 500,000 บาท
และรางวัลระดับดี จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ “ข้าวพันธุ์ใหม่จากเทคโนโลยีลำไอออนเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรไทย” และ “แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองผ่านระบบพูดคุยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ทั้ง 2 ผลงาน ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากประธาน กสว. และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน 100,000 บาท
2. สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)
รางวัลระดับดี จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1. “การพัฒนาพื้นลู่ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์จากยางธรรมชาติ” 2. “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช” และ 3. “ลวดจัดฟันวัสดุฉลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดฟันของคนไทย” โดยทั้ง 3 ผลงาน ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากประธาน กสว. และเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริม ววน. จำนวน 100,000 บาท ส่วนรางวัลระดับยอดเยี่ยม ในปีนี้ไม่มีผู้ได้รับรางวัล
รวมถึง ผลงานต่างๆ ของหน่วยงานที่นำมาจัดแสดง โดยแบ่งธีมจัดแสดงผลงานออกเป็น 5 ธีม ได้แก่ ธีมที่ 1 ผลงานเด่นทางการแพทย์ อาทิ N95 Mask, ชุดตรวจหาแอนติเจน, นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก-ลบ และตรวจยีน “มะเร็งเต้านม” เป็นต้น ธีมที่ 2 ผลงานเด่นทางด้าน AI เช่น แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยของเมือง ธีมที่ 3 ผลงานเด่นทางด้านอาหารมูลค่าสูง เช่น การสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมด้านสารให้กลิ่นรสในประเทศไทย ธีมที่ 4 ผลงานเด่นทางด้านเศรษฐกิจฐานราก เช่น น้ำเพื่อการเกษตร...ด้วยระบบน้ำหยดสำหรับมันสำปะหลังและอ้อย และ ธีมที่ 5 ผลงานเด่นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบวินิจฉัยและเครื่องมือประเมินการทำงานของโรงงานผลิตความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในเมืองอัจฉริยะ สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยที่พร้อมใช้ประโยชน์อยู่จำนวนมาก และ การปลดล็อคครั้งนี้ จะเป็นการปลดล็อคครั้งสำคัญของวงการวิจัยไทย
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากผลงานนวัตกรรม ที่สามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้ว ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลายและแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. ดังกล่าว อาทิ ตลาดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเจรจาเพื่อขออนุญาตใช้สิทธิ โซนคลินิกให้คำปรึกษาทรัพย์สินทางปัญญาและกฎระเบียบ โซนนโยบายส่งเสริม ววน. โซนแผน ววน. และโปรแกรมการให้ทุน สำหรับผู้สนใจเรื่องแผนและงบประมาณหรือทุนสนับสนุน โซนร้านค้านวัตกรรม สำหรับประชาชนทั่วไปได้เห็นตัวอย่างของนวัตกรรมจากการวิจัยที่ออกสู่ตลาดแล้ว โซนแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม สะท้อนว่าเราจะก้าวตามทันประเทศอื่นด้านงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังมีโซนสินเชื่อเพื่อนวัตกรรม โซนเทรนนิ่ง โซนเจรจาธุรกิจ โซนเวทีกลาง ที่มีการเสวนาหัวข้อต่างๆ ในหลากหลายมุมโดยวิทยากรมากความรู้ความสามารถกว่า 20 ท่าน ใน 7 เวที อาทิ เสวนา “Journey to Commercialization : การปลดล็อคการใช้ประโยชน์งานวิจัย สู่ตลาด” ตลอดจนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงที่ประสบความสำเร็จ กรณีของการวิจัยสู่ละครโทรทัศน์ อย่าง ละครเจ้าพระยาสู่อิระวดี และการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่แสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยซึ่งเป็นเรื่องใหม่และเป็นโชว์เคส ประสบการณ์งานวิจัยที่ทุกคนสนใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ สกสว.และหน่วยงานร่วมจัดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะส่งผลให้เกิดจำนวนสิทธิบัตรมากขึ้นและมีการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพิ่ม GDP ของประเทศ 1.5% จากการลงทุนด้าน ววน. รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และประชาชน ในการนำผลงานวิจัย นวัตกรรมไปต่อยอด ปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ เปลี่ยนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมต่อไป
งาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.