"นายก" เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 "ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน" ตั้งเป้าลดการตายจากอุบัติเหตุลง 50% ในปี 73 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน - คมนาคม - สสส. - ภาคีเครือข่าย จับมือสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน ผลักดันติดตามประเมินผล - ควบคู่บังคับใช้ด้านกฎหมายเพื่อความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 65 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการเปิดงานการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 "ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน" พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบายการวิจัย เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน” โดยมี ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เข้าร่วมการจัดงานในครั้งนี้
พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "บทบาทผู้นำประเทศ" ว่า ประเทศไทยเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของความปลอดภัยทางถนนยังคงเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 13 จากเป้าหมายท้าทายที่กล่าวมาข้างต้น ศปถ. จึงได้กำหนดเป้าหมายรายปีและรายจังหวัด เพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้มีความเข้มแข็งมีแนวทางการทำงานและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
"รัฐบาลมุ่งเน้นนำแนวคิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนทำงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลไก ศปถ.ทุกระดับ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น การสร้างระบบแห่งความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้และรัฐบาลจะผลักดันให้มีการกำกับติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอสถานการณ์ความก้าวหน้าการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกไตรมาส พร้อมสรุปผลการดำเนินงานเสนอสภาและสาธารณะทราบทุกปี เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ปอว. กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “นโยบายการวิจัย เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน” ว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่กระทรวง อว. จะได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยในการจัดการความปลอดภัยทางถนนด้วยแนวคิดลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยร่วมกันทำงานแบบบูรณาการด้านงานวิจัยและการพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ และการผลักดันการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) ให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยวให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ผ่านพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) ของหน่วยงานภาคี ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และหน่วยงานของกระทรวง อว. 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ท่านรัฐมนตรี อว. ได้มอบนโยบายให้แก่ สกสว. วช. และ บพข. เพื่อสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งในส่วนของการกำหนดให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566-2570 การจัดสรรงบประมาณการวิจัย รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิภาพสาธารณะในการดำรงชีวิต โดยใช้การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม
อุบัติเหตุทางถนน (Road accident) เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประชากรโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย สูงถึง 22,491 ราย คิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน จัดอยู่ในประเทศที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก (WHO, 2018) สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562 เฉลี่ย 20,480 คน และ ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 17,831 คน นอกจากนี้ ประชากรในช่วงอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เฉลี่ยวันละ 590 คน และสาเหตุการเสียชีวิตจากการใช้ความเร็วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาลสูงถึงร้อยละ 25 ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย จึงควรสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนนด้วยแนวคิดลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนนในประเทศไทย เนื่องจากองค์ความรู้เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะองค์ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงหลักจากอุบัติเหตุทางถนน ยังไม่ครอบคลุมต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาความรู้ใหม่เพื่อเป็นแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การลดความสูญเสียที่ป้องกันได้ตามแนวทางสากลที่เน้นวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe system approach) การสัญจรที่ยั่งยืนและเท่าเทียม (Sustain and Equitable Mobility) และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากรด้านความปลอดภัยทางถนนให้สามารถดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
โดยข้อมูลทางวิชาการและการวิจัยมีบทบาทอย่างมาก ในการลดการเกิด ลดความรุนแรง ลดความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งต้องดำเนินการตั้งแต่
จะเห็นได้ว่าเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนนนั้น ต้องการวิจัยและวิชาการ ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ฐานข้อมูล ไอที ตลอดจนการแพทย์และสาธารณสุข ด้านสังคม เศรษฐกิจ
ภายใต้ความร่วมมือนี้ หน่วยงานภาคีจึงได้ทำความตกลงร่วมกันเพื่อการทำงานแบบบูรณาการด้านงานวิจัยและการพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ และการผลักดันการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) ให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยวให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งสำคัญอีกประการ ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือโครงการความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) อย่างแท้จริงนั้นคือ ความร่วมมือในการดำเนินการของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยใช้องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และการแก้ปัญหาของสังคมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.