(9 มิถุนายน 2565 : กรุงเทพฯ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึกกำลังกับ เจเนเรชั่น ประเทศไทย องค์กรระดับสากลเพื่อสังคม และ บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย นำ GenNX Model โมเดลจัดการปัญหาการว่างงาน ด้วยการจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ต้องการหางาน กับบริษัทหรือนายจ้าง ผ่านกระบวนการฝึกอบรมแบบเข้มข้น ช่วยแก้ปัญหาผลกระทบการว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน กระทบต่อตลาดแรงงานไทย เกิดการว่างงานจากการเลิกจ้างสูงถึง 7 ล้านตำแหน่ง และการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ ที่ 2 ใน 3 ของจำนวนบัณฑิตจบใหม่ 340,000 คนไม่มีงานทำ เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดแรงงานลดลง
ด้าน ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ สป.อว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการผลิตบัณฑิตเป็นมุ่งเน้นการผลิตกำลังคนในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงานเน้นการสร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อม(ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนได้ง่ายขึ้นและเพื่อให้ประเทศได้บรรลุถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น "GenNX Mode! ขององค์กรเจเนเรชั่น นับเป็นโมเดลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นโมเดลที่ช่วยในการพัฒนาทักษะให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อต่อยอดความรู้ และเปิดโอกาสให้ได้รับการจ้างงานมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาก็ได้เข้ามามีโอกาสเรียนรู้ในกระบวนการทำงานของเจเนเรชั่น ในการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้สำหรับการสร้างและพัฒนากำลังคนของสถาบันอุดมศึกษาเองในอนาคต ขณะที่ภาคเอกชนก็จะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนของประเทศให้ตรงกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ต่อไป"
ด้วยเหตุนี้ สป.อว. จึงได้ดำเนินการนำร่อง โดยนำโมเดลขององค์กรเจเนเรชั่น ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้นตามเพื่อการจ้างงานตามความต้องการและบริบทของประเทศไทย โดยได้มอบหมายให้ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว
นางสาวปุณยนุช พัธโนทัย ผู้บริหารองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์และโครงสร้างธุรกิจหลายอย่างที่เปลี่ยนไปทำให้ภาครัฐ และภาคเอกชนมองหาโมเดล และนวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการยกระดับการพัฒนาทักษะของแรงงาน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงงานของบัณฑิตจบใหม่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เจเนเรชั่น เป็นองค์ระดับสากลเพื่อสังคม ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้าง (Demand Led) ด้วยโมเดลนวัตกรรมใหม่ ที่ให้ผลสัมฤทธิ์ในการหางานในทุกสถานการณ์
ทั้งนี้ เจเนเรชั่น เป็นองค์กรเพื่อสังคม โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดเพศ และไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เฉพาะในสายงานนั้นๆ จากประสบการณ์การทำงานด้านนโยบายพัฒนาการศึกษา มากว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นปัญหาสังคมไทย ซึ่งหลายอย่างเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และทักษะในการทำงาน ตลอดจนถูกปิดกั้นเชิงระบบให้เข้าไม่ถึงตลาดแรงงาน ที่ผ่านมา เจเนเรชั่น มีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในการแก้ปัญหาเชิงระบบด้านกำลังคน และแรงงาน ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวง อว. และ บริษัทไมโครซอฟท์ประเทศไทย และพาร์ทเนอร์ต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนโครงการในสายงานของเทคโนโลยี และสายงานด้านสาธารณสุข เพื่อเป็นโครงการนำร่องของประเทศ
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในระยะหลังได้ทำให้พันธกิจของไมโครซอฟท์ในการเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองไปที่แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน โดยข้อมูลจาก Linkedln และไมโครซอฟท์เองคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีตำแหน่งงานใหม่ที่ใช้ทักษะเชิงดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาชอฟต์แวร์ ข้อมูล คลาวด์ AI หรือความปลอดภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาถึง 139 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เราจึงยินดีที่จะให้การสนับสนุนกับเจเนเรชั่น ประเทศไทย ในฐานะอีกหนึ่งพันธมิตรบนเส้นทางสู่การเติมเต็มทักษะดิจิทัลให้คนไทย ซึ่งนอกจากการได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และนำไปทดลองใช้จริงแล้ว ยังต่อยอดไปสู่โอกาสในการก้าวเข้าสู่สายงานไอทีได้โดยตรงจากโครงการนี้ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็จะมีโอกาสได้เฟ้นหาบุคลากรหน้าใหม่ที่มีพร้อมทั้งทักษะ ทัศนคติ และความมุ่งมั่นที่จะเติบโตไปด้วยกัน"
ท้ายสุดนี้ ในส่วนของเป้าหมายองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย โดยในช่วง 2 ปีแรกนั้นองค์กรจะเน้นพัฒนาทักษะการทำงานแบบเข้มข้นและตรงกับความต้องการจ้างงาน ให้แก่ผู้ว่างงาน และนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาให้มีความพร้อมต่อการถูกจ้างงาน ตลอดจนบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อยกระดับทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการ จำนวนทั้งสิ้น 350 คน รวมถึงฝึกอบรมวิทยากร (Trainer) ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการ
ฝึกอบรมเพื่อการจ้างงาน โดยคัดเลือกบุคลากรจากอาจารย์/นักวิจัยจากสถาบันการศึกษา และตัวแทนจากภาคเอกชน จำนวน 28 คน ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาศักยภาพให้กับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยอย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อส่งต่อหลักสูตรการฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่เข้มข้นของเจเนเรชั่นสำหรับการขยายผลให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจ (Delivery Partners) โดยจะเริ่มนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ Healthcare ซึ่งตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และจะขยายไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในปีต่อๆ ไป โดยมีความตั้งใจที่จะขยายกลุ่มผู้เป้าหมายจำนวน 2,000 - 4,000 คน ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.