การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดื่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)
(10 มิถุนายน 2565) ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนา สร้างการตระหนักรู้ พัฒนาขีดความสามารถทักษะและความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ผ่านโครงการ กิจกรรมการพัฒนาบุคลากรสถาบันอุดมศึกษา นิสิตนักศึกษา ทางด้านไซเบอร์ต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการเพื่อยกระดับการดูแลและการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ การพัฒนาหลักสูตร และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยคุกคามไชเบอร์ วิธีการโจมตีหรือการก่อภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือในด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย พลเอกปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย รองศาสตราจารย์ ดร.วรา วราวิทย์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และพลอากาศตรีอมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารการอุดมศึกษา 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวถึง ความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรการให้ความรู้นิสิตนักศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกันเพื่อให้มีการดำเนินการเชิงปฏิบัติการที่มีลักษณะบูรณาการ และนโยบายของกระทรวงที่ต้องการให้มีหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนอย่างแท้จริง นำไปสู่การใช้งานจริงสนองนโยบายของประเทศโดยตรงในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นหลักสูตรแรกที่กำลังจัดทำ เพราะกำลังคนสมรรถนะสูงในด้านนี้ภายในประเทศถือว่ายังขาดแคลนอยู่มาก ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนอีกทั้งการเฝ้าระวังและการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะสามารถส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก
ด้าน พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ของประเทศ บนความยากลำบากทั้งเรื่องความขาดแคลนงบประมาณและกำลังคนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ในภาวะที่ประเทศอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจดิจิทัล การพึ่งพิงโลกไซเบอร์ในขณะที่การให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยจากการถูกโจมตีและกลุ่มแฮกเกอร์ หนึ่งในพันธกิจหลักๆ ของ สกมช. คือการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนภายในประเทศ กระทรวงต่างๆ รวมถึงองค์กรต่างประเทศซึ่งขณะนี้มีการร่าง MOU กับอิสราเอล จีน อังกฤษ และอีกหลายประเทศ ที่เข้ามาหา สกมช. ในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดี 4 เครือข่าย กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลายองค์กรมีการปรับตัว รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งได้เล็งเห็นความสำคัญของ Digital Transformation มากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะเดียวกันพฤติกรรมการบริโภคของคนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา การดำเนินงานขององค์กรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการปฏิบัติงาน สถาบันอุดมศึกษายุคใหม่จึงต้องเร่งการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้สามารถก้าวสู่ "Digital University" ที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ ขับเคลื่อนระบบการศึกษาด้วยการใช้ Digital Transformation ให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สถาบันอุดมศึกษา
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วรา วราวิทย์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวถึง ความสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการของคณะกรรมการชุดนี้ ในปี 2564 ว่าได้มีการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โครงการศึกษาและพัฒนา EA for HE โครงการจัดหาซอฟต์แวร์กลาง โครงการวิเคราะห์ข้อมูล TCAS และโครงการความร่วมมือกับ สกมช.
พลอากาศตรีอมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไขเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวถึง ความสำคัญของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เพื่อการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานตามพระราชบัญญัติ และประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.