วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2565) สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น หน่วยงานในสังกัดธัชชา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและเสวนาวิชาการ เรื่อง “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” ตั้งแต่วันที่ 15-20 พฤศจิกายน 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5 ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น นางสาวสิริธรรม ณ ระนอง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้แทนชุมชนหัตถกรรม และคณาจารย์นักวิจัยของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ให้การต้อนรับ
ในโอกาสนี้ นายพลากรฯ องคมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญให้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการอันทรงคุณค่านี้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือ นี่ถือเป็นอีกโอกาสอย่างหนึ่งของคนไทยที่จะได้น้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านศิลปาชีพ ประการที่ 2 เป็นโอกาสดีของตนที่ได้มาชมผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าครูช่างที่ได้รวบรวมมาจากทั่วภูมิภาคของประเทศไทย จากผลงานที่ได้ค้นคัดเลือกในวันนี้ล้วนได้มาจากความหลากหลายทางพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอลายจวนตานีจากจังหวัดปัตตานี โคมไฟกรงนกจากจังหวัดนราธิวาส ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดจากศูนย์ศิลปาชีพ หรือผ้าทอผสมขนแกะจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทราบว่าของที่นำมาจัดแสดงบางชิ้นนั้นหายากมาก ถ้าไม่อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และสืบสาน ก็อาจจะสูญหายไปแล้วก็ได้ ในโอกาสนี้ขอชื่นชมความสำเร็จของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานน้องใหม่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้จัดแสดงผลงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเชิดชูและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ช่างศิลป์และผู้ปฏิบัติงานในการสานต่องานศิลปะท้องถิ่นให้ประชาชนได้รักและหวงแหนต่องานศิลป์ท้องถิ่นของตนที่มุ่งหวังให้เป็นอนาคต ให้เป็นมรดกที่ล้ำค่าของประเทศชาติของเราสืบไป
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น เปิดเผยว่า สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นเป็นหนึ่งในหน่วยงานของวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดตั้งขึ้น โดยมีพันธกิจในการรวบรวมคลังข้อมูลความรู้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลป์ท้องถิ่นไทย รวมทั้งสืบสานมรดกภูมิปัญญาช่างศิลป์ไทยให้ส่งต่อสู่คุณรุ่นใหม่ ให้สามารถประกอบอาชีพบนฐานของทุนวัฒนธรรม ทั้งนี้ ดำเนินการด้วยงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตลอดระยะเวลาการดำเนินภารกิจไปทุกภูมิภาคด้วยการรวมพลังปัญญาของสถาบันอุดมศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด สถาบันก็ได้ประจักษ์ว่าช่างศิลป์ระดับฝีมือช่างโดยเฉพาะระดับฝีมือชั้นครูในพื้นที่ชายแดนที่ทุรกันดาร ล้วนเป็นผลผลิตอันสืบเนื่องจากพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงวิริยะอุตสาหะทุ่มเทพลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อดูแลให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น งานของสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นจึงนับว่าเป็นการดำเนินตามรอยพระบาทในพระองค์ท่านโดยแท้ หากปราศจากรากฐานที่พระองค์ทรงวางไว้ ภูมิปัญญาหลายอย่างของคนไทยคงอยู่ในสภาพเสี่ยงต่อการสูญหายและลำบากยากยิ่งในการที่จะฟื้นฟู เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 กอรปกับสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นได้ดำเนินการภารกิจเข้าสู่ปีที่ 2 สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ สถิตเป็นพระมิ่งขวัญของปวงประชาสืบไปแล้ว สถาบันยังได้คัดเลือกผลผลิตจากโครงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจำนวน 7 แห่ง วิทยาลัยชุมชนจำนวน 11 แห่งทั่วทุกภูมิภาค เน้นด้านงานผ้าทอ งานจักสานงานแกะสลักไม้ และงานว่าว นำมาจัดแสดงในนิทรรศการซึ่งมีผลงานของทั้งศิษย์และครูช่าง เพื่อเทิดพระเกียรติพร้อมเชิดชูคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาของไทยและได้จัดเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการศาสตร์และวิทยาการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการออกแบบ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสืบสานส่งต่อมรดกภูมิปัญญาของชาติอันทรงคุณค่าให้ดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในยุคสมัยปัจจุบันและยั่งยืนไปสู่อนาคต โดยเสวนาเรื่อง “ช่างศิลป์ถิ่นไทย วิถีร่วมสมัย” โดย ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้านักวิจัยโครงการออกแบบและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จักสานร่วมสมัย ดร.กรกต อารมย์ดี ศิลปินรางวัลศิลปาธรและเจ้าของแบรนด์ Korakot International นักวิจัยเพื่อชุมชน ดร.วุฒิไกร ศิริผล อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาเอก Textile จาก Royal Collage of Arts นางยามีละห์ ดอเล๊าะ ประธานกลุ่มจักสานกระจูด สตรีบ้านโคกพะยอม จังหวัดนราธิวาส และนายอรรถวิทย์ โสตะวงศ์ ประธานกลุ่มจักสานเยาวชน จังหวัดยโสธร เจ้าของเพจ จักสานไม้ไผ่ แบรนด์อรรถวิทย์ ท้ายสุดนี้ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
ถ่ายวีดิโอ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.