วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย คณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลได้จัดทำร่างแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับเครือข่ายนานาชาติเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและยกระดับศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทยสู่ความเป็นนานาชาติ จึงจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับเครือข่ายนานาชาติขึ้น นำโดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนศรีอยุธยา)
การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับเครือข่ายนานาชาติ
ยุทธศาสตร์การผลักดันความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษาไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือโลกเพื่อการพัฒนาพลโลก (Global Cooperation Network Development) กลไกการขับเคลื่อนความเป็นนานาชาติเชิงระบบเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมความเป็นนาชาติของสถาบันอุดมศึกษา โดยการพิจารณากำหนดนนโยบาย กฎ/ระเบียบ/แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง การจัดสรรทรัพยากรดำเนินการการเชื่อมโยงความร่วมมือและบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคสังคม เพื่อเอื้อให้การดำเนินงานในมิติต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ ที่ส่งเสริมความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนนำไปสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
1.1 สร้างระบบการส่งเสริมความเป็นนานาชาติ 1.2 สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างประเทศ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 1.3 สร้างแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การส่งเสริมความเป็นนานาชาติภายในสถาบันอุดมศึกษา (Internationalization at Home (laH) Promotion) การส่งเสริมความเป็นนานาชาติภายในสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของอุดมศึกษาไทย โดยเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาความเป็นนานาชาติผ่านการเรียน การสอน การวิจัย การดำเนินกิจกรรมทางวิชาการที่ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องเกี่ยวกับโลก (Global Awareness) และการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมที่จะช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติให้มีความเป็นสากลและสร้างความเป็นพลโลก (Global Citizen)
2.1 พัฒนาระบบการขับเคลื่อนการพัฒนาความเป็นนานาชาติในระดับอุดมศึกษา 2.2 สนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรมนักศึกษาในระดับนานาชาติ 2.3 ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาการวิจัยและวิชาการ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเข้มแข็งและขยายความร่วมมือกับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner Enhancement) การสร้างความเข้มแข็งและขยายความร่วมมือกับหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินงานด้านความเป็นนานาชาติ โดยในปัจจุบันการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศมีอยู่ในทุกระดับทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคีและภูมิภาค และมีอยู่ในบทบาทที่ประเทศไทยเป็นผู้รับ ผู้ให้ และต่างตอบแทน การสานต่อเครือข่ายความร่วมมือที่มีอยู่ให้มีความเข้มแข็งผ่านการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือด้านการต่างประเทศที่มีอยู่ในทุกระดับจะช่วยพัฒนาคุณภาพและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย
3.1 ส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือทางการวิจัยและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3.2 การสนับสนุนการอุดมศึกษาไทยเป็นที่รู้จัก (Visibility) ในสาขาที่มีความเป็นเลิศ ในระดับนานาชาติ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การส่งเสริมคนไทยสู่เวทีสากล (Thailand Branding Promotion) ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคนไทยให้ได้แสดงศักยภาพในเวทีสากลในหลายหลายด้าน ช่วยเสริมสร้างบทบาทนำของประเทศไทยในระดับนานาชาติ
4.1 กำหนดแผนและแนวปฏิบัติในการส่งเสริมการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ 4.2 จัดสรรทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาความเป็นสากลสู่อนาคต (Strategic Agile IZN Team) เป็นกลุ่ม/ทีมที่ทำหน้าที่พัฒนามุมมองเชิงอนาคต ต่อการพัฒนาความเป็นสากลของอุดมศึกษาที่มีความคล่องตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันต่อบริบทที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านต่างประเทศของ อว.
5.1 พัฒนาระบบนิเวศความเป็นสากลของอุดมศึกษาไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.