(26 พ.ย. 65) ที่ จ.กาฬสินธุ์ - ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานหลักสูตรประกาศนียบัตรการผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ที่ฟาร์มดีมีสุขคาเฟ่ (ฟาร์มเพื่อน) บ้านทุ่งสว่าง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยมี รศ.จิรพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผศ.ดร.วิชยุทธ จันทะรี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รศ.ดร.กตัญญู แก้วหานาม ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผศ.ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ด.ต.สมคิด นันทสมบูรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลลำพาน พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา ประชาชน ให้การต้อนรับและจัดบูธแสดงผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อแพะ และผักปลอดสารพิษ ทั้งนี้ ผศ.ดร.จิรัฐติ ธรรมศิริ อาจารย์ประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรการผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เป็นผู้บรรยายสรุปด้วย
ต่อมา ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ พร้อมคณะ เดินทางไปยังกลุ่มปลูกผักอินทรีย์แปลงใหญ่บ้านคุณนาย บ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ โดยมี ผศ.ดร.โกศล เรืองแสน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และนักศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ประชาชน ร่วมต้อนรับและนำเสนอผลงานที่โดดเด่น เช่น การนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการเกษตร การเผาถ่านลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก การปลูกผักปลอดสารพิษ และอัดฟางก้อนสำหรับเลี้ยงสัตว์ จากนั้น ได้เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ต.สงเปลือย บ้านหัวงัว ต.หัวงัว อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ โดยมี ผศ.สายัญ พันธ์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช และนักศึกษา ประกาศนียบัตรเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ประกาศนียบัตรการผลิตผักไร้ดินเพื่อการค้าในระบบเกษตรปลอดภัย และประกาศนียบัตรการผลิตเห็ดเพื่อการค้าในระบบปลอดภัย รวมทั้งประชาชน ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมร่วมกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม ช่วยลดทุนค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท หรือค่าจ้างรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 800 บาท
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานหลักสูตร ที่เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ทั้งในส่วนของการนำองค์ความรู้มาพัฒนาการด้านการปลูกผักไร้ดิน เห็ดอินทรีย์ ข้าว ปศุสัตว์ การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือ เป็นการเชื่อมโยงคนรุ่นพ่อ รุ่นพี่ และคนรุ่นใหม่มาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ อย่างที่เรียกว่า ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) โดยนำเอานวัตกรรมใหม่ แนวคิดใหม่มาใช้ นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลไปตามโรงเรียนต่างๆ มีหลายโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ เช่น การปลูกผัก สร้างรายได้ระหว่างเรียน นำผลงานประกอบผลการเรียน เมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยสามารถเก็บหน่วยกิตหรือสร้างเครดิตแบงก์ให้กับตนเองได้ ทำให้การเรียนสั้นลง จบเร็ว ซึ่งโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ อว. ดำเนินการมา 3 ปีแล้ว ขณะที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เองกำลังขับเคลื่อนและทำต่อไป เพื่อให้เกิดยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์มากขึ้น ที่จะเป็นการตอบโจทย์จบออกมามีงานทำ และลดปัญหาทางสังคมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รศ.จิรพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นสถาบันทางวิชาการที่ให้ความรู้และความชำนาญในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาและส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้บริการทางวิชาการแก่ท้องถิ่นและสังคม ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน ทะนุบำรุงศาสนาศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬา รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมของรัฐและท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง เปิดสอนคณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะบริหารศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่นามน เปิดสอนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ คณะศิลปศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อเพิ่มรูปแบบในการศึกษาให้หลากหลาย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง สร้างโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการในชุมชน ระยะเวลาเรียนลดลง และลดค่าใช้จ่ายในการเรียน นอกจากนี้ยังเป็นการขยายองค์ความรู้สู่ชุมชน และเกษตรกรทุกสาขาอาชีพได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ด้าน นายสุนันท์ อินทโชติ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135 บ้านหัวงัว ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตใหม่ กล่าวว่า ได้รับคำแนะนำจาก ผศ.ดร.สายัญ พันธ์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ แล้วมีความสนใจ เพราะแต่เดิมพื้นที่ทำกินเป็นที่นา และบางส่วนว่างเปล่า สภาพดินเสื่อมโทรม หลังฤดูทำนามีการปลูกผัก ขณะที่คนอื่นปลูกพืชสวน มันสำปะหลัง ได้ผลผลิตตกต่ำ หลังเข้าร่วมโครงการมีคณาจารย์ นักศึกษา เข้ามาร่วมคิด ร่วมลงทำ โดยปลูกผักออร์แกนิคและปลอดสารพิษ ให้ทั้งองค์ความรู้และอุปกรณ์ วันนี้ประสบความสำเร็จ สามารถเก็บผลผลิตไปจำหน่ายสร้างรายได้ มีกำไร ขายได้ราคาสูง ขอบคุณมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่มอบสิ่งดีๆสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้าน เกษตรกร มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ
ขอบคุณภาพและข่าวจาก มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
เผยแพร่โดย : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.