มอบเรือสุพรรณหงส์จำลอง ขนาดความยาว 3 เมตร ให้แก่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคมและประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการมอบเรือสุพรรณหงส์จำลอง และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเป็นผู้รับมอบเรือสุพรรณหงส์จำลองดังกล่าว เมื่อวันพุธที่ 14 ธันวาคม 2565 เนื่องในโอกาสครบรอบวันชาติจีนปีที่ 73 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ได้ร่วมแสดงความยินดีกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยินดีที่จะสนับสนุนและยกระดับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมโยง รวมทั้งเรื่องการขจัดความยากจนของประชาชนทั้งสองประเทศตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวไว้เมื่อช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ณ ประเทศไทย ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นต้นแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวง อว. ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ได้จัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2563-2570 โดยมี 6 กลยุทธ์การพัฒนา อววน. เพื่อตอบโจทย์ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และใช้ วทน. เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยกระทรวง อว. ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณประชาชนจีนและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยจัดการประชุมเรื่องการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกสู่การเจริญเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์และมาตรการการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญ รวมทั้งแสวงหาแนวทางในการริเริ่มความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในการขจัดความยากจน
ในโอกาสนี้ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ได้เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเยี่ยมชมหน่วยงานที่มีการดำเนินงานเชิงรุกด้านการขจัดความยากจนระดับพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานของจีน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องตั้งอยู่ ณ จังหวัดปทุมธานี
นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน 2 ฉบับ ในช่วงที่มีการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แก่ แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางในการทำความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.