เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) มีการแถงข่าวความสำเร็จ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว.กับกระทรวงสาธารณสุข(สธ) มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.พร้อม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว.มีสถาบันการศึกษา ที่ต้องดูแลประมาณ 150 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคนในแต่ละปีจะมีนักศึกษาหนุนเวียนเข้าศึกษาในระดับริญญาตรีประมาณปีละ 4.5 แสนคน แน่นอนนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัยระหว่าง 18 – 22 ปีมีสภาวะความเครียดอยู่แล้ว ขณะที่ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” เริ่มดำเนินการในปี 2565 เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง กระทรวง อว.กับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขับเคลื่อนการดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่นักศึกษา พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัด สธ. และมหาวิทยาลัยในแต่ละเขตสุขภาพ ทั้งนี้ นักศึกษาอยู่ในช่วงวัย 18 – 22 ปีเป็นวัยรุ่นและเป็นช่วงรอยต่อชีวิตนักศึกษากับการออกไปทำงานเมื่อจบการศึกษาทำให้มีความเครียดอยู่แล้วสำหรับการปรับตัวเพื่อออกสู่สังคม โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ.38 แห่งและ มทร. 9 แห่งกับกรมสุขภาพจิตถือว่าได้ผลดีมาก มีการการคัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษากว่า 2 หมื่นคนและมีประมาณ 2พันคนที่สามารถช่วยให้สุขภาพจิตและจัดการกับปัญหาความเครียดได้ดีขี้นช่วยบำบัดดูแลสุขภาพจิต มีประมาณ 300 รายต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแลและหลังจากนี้ อว.จะขยายผลไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.สนับสนุนโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจฯ โดยกรมสุขภาพจิต ในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษา มีผลสำเร็จของการดำเนินงานตามโครงการ พบว่ามรภ.ทั้ง 38 แห่ง มีโรงพยาบาลคู่เครือข่ายสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่เครือข่าย จำนวน 51 แห่ง และมทร.ทั้ง 9 แห่ง มีโรงพยาบาลสังกัด สป.เป็นคู่เครือข่ายจำนวน 14 แห่ง ทั้งนี้มีแนวทางการส่งเสริมป้องกันและดูแลส่งต่อตามระบบสาธารณสุขที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ พร้อมมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี เหตุวิกฤตของนักศึกษาอีกด้วย
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า เยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย (อายุ 19 -24 ปี) จำนวน 26,887 ราย มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 25.68 และมีความเครียดสูงร้อยละ 19.21 ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเฉพาะที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด มีเพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ภายหลังดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 เป็นต้นมา ได้คัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาไปแล้ว จำนวน 23,740 ราย ในจำนวนนี้ไม่พบความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 18,066 ราย แต่ทว่าพบผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 5,235 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (กลุ่มสีเหลือง) จำนวน 1,630 ราย โดยขณะนี้มีจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจนดีขึ้นแล้ว จำนวน 1,166 ราย อย่างไรก็ดีในกลุ่มนี้พบจำนวนนักศึกษาความเสี่ยงที่จำเป็นต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแล (กลุ่มสีแดง) ทั้งสิ้น 399 ราย ซึ่งขณะนี้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว จำนวน 232 ราย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.