เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ทำการตรวจผัก ผลไม้ และผลิตผลการเกษตร ที่ จ.ปราจีนบุรี ทั้งที่ตลาดสดและในแปลงปลูก โดยวิธีมาตรฐานสากลในห้องปฏิบัติการสินค้าส่งออก พบว่าปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของซีเซียม-137 และสารกัมมันตรังสีต่างๆ
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวง อว. ได้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยในแต่ละวันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ และดิน รวมทั้งใช้รถวัดระดับรังสีทั้งภายในโรงงาน พื้นที่วงรอบโรงงาน และแต่ละจุดในจังหวัด พบว่าระดับกัมมันตรังสีอยู่ในระดับปกติ รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการตรวจยืนยันผลเช่นเดียวกัน
"ในส่วนของพืช ผัก ผลไม้ ผลิตผลการเกษตรและอาหาร สทน. ได้ร่วมกับ จ.ปราจีนบุรีและเกษตรกรในพื้นที่ ทำการตรวจพืชผักผลไม้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ 3 วิธี คือ การวัดรังสีโดยตรงโดยเครื่องมือวัดแบบพกพา การเช็ดหรือขูดที่ผิวของผักผลไม้เพื่อตรวจแบบสเมียร์เทสต์ และการตรวจละเอียดในห้องปฏิบัติการสินค้าส่งออกซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน มีความไวและแม่นยำสูงสุด โดยล่าสุด สทน.ได้รายงานว่าพืชผักผลไม้จาก จ.ปราจีนบุรี ทั้งจากตลาดและจากสวน ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบซีเซียม-137" ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สทน. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการตรวจผักผลไม้เบื้องต้นกว่าหลายร้อยตัวอย่างในตลาดและในสวน โดยการตรวจวัดรังสีโดยตรงและวิธีสเมียร์เทสต์ไม่พบการปนเปื้อน จึงได้ตรวจยืนยันผลเพิ่มเติมโดยนำเอาตัวอย่าง เช่น ทุเรียน ผักบุ้ง หอมแดง เห็ด ผลโกโก้ มาตรวจละเอียดในห้องปฏิบัติการ โดยเทคนิคแกมมาสเปคโตรเมตรี (gamma spectrometry) ซึ่งใช้ผักผลไม้จำนวนมาก นำวิเคราะห์ใช้การกระตุ้นธาตุต่างๆ ให้เข้าสู่สภาวะไม่เสถียร ซึ่งจะมีการปล่อยแสงซึ่งจะมีความถี่เฉพาะของธาตุต่างๆ แล้วทำการอ่านสัญญาณซึ่งแปลเป็นธาตุต่างๆ ได้ เป็นเทคนิคที่มีความไวและความจำเพาะสูงมาก ใช้เวลาตรวจยืนยันและวิเคราะห์ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งขณะนี้ได้รายงานผลแล้วว่า พืชผักผลไม้ ปลอดภัย ไม่พบซีเซียม-137 หรือสารกัมมันตรังสี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.