วันที่ 5 เมษายน 2566 ณ อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จัดสัมมนาเรื่อง “บทบาทอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เป็นประธานโดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เป็นผู้แทน อว. เข้าร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย เป็นต้น
รอง ปอว. กล่าวถึงบทบาทของกระทรวง อว. ที่เน้นเรื่องการพัฒนากำลังคน พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่เพิ่มมูลค่า (Value added Economy) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เจริญแล้ว การเตรียมพร้อมด้านกำลังคนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องคำนึงถึงความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนากำลังคนให้กับประเทศเป็นเรื่องที่ต้องคิดและทำร่วมกันทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองและภาคเอกชน การกำหนดพื้นที่ ประเด็นการพัฒนาและเป้าหมายที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณลงพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน ทำให้การวางแผนพัฒนากำลังคนมีทิศทางและมีประสิทธิผลภาพมากขึ้น รูปแบบการพัฒนากำลังคนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเตรียมกำลังคนเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ การที่รัฐบาลกำหนดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 4 ภาค ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง/ตะวันตก (C-WEC) และ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) พร้อมเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน ทำให้การวางแผนพัฒนากำลังคนของประเทศเพื่อรองรับกับทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ทำได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 154 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค มีหลักสูตร (Degree) ในระดับปริญญาตรี โท และ เอก หลักสูตรระยะสั้น (Non-Degree) เพื่อ Upskill/Reskill ที่หลากหลายครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกสาขา มีการจำแนกสถาบันอุดมศึกษาตามภารกิจหลัก มีกลไกและงบประมาณสนับสนุนการพัฒนากำลังคน ต่างๆ เช่นโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย พัฒนากําลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S Curve มีจำนวนหลักสูตรกว่า 550 หลักสูตร ผลิตกำลังคนไปแล้วกว่า 40,000 คน โครงการ Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาตามแนวทาง Demand Driven Education สามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพที่ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน มีหลักสูตรที่ร่วมดำเนินโครงการอยู่ทั้งสิ้น ๑,๑๖๖ หลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาใน 4 ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมี Platform การเรียนรู้ตลอดชีวิตออนไลน์ Thailand Massive Open Online Course (Thai-MOOC) มี 12 หมวดรายวิชา และมีกระบวนวิชาที่เปิดทั้งสิ้น 661 วิชา มีผู้เรียนสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรไปแล้วกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน
รอว ปอว. กล่าวทิ้งท้ายว่าการพัฒนากำลังคนของประเทศเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีรายได้สูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐกับภาคเอกชนต้องร่วมมือกันทำงานตั้งแต่การบ่งชี้ทักษะที่ต้องการ มีการออกแบบหลักสูตรหรือวิธีการให้ความรู้ร่วมกัน และร่วมดำเนินการและประเมินผลร่วมกัน การสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐแบบข้ามกระทรวง การสนับสนุนด้านงบประมาณที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนของชาติอย่างชัดเจนและมุ่งเป้า เช่น การบรรจุแผนบูรณาการด้านการ Reskill/Upskill/New Skill เข้าเป็นอีกหนึ่งแผนบูรณาการงบประมาณของประเทศ ก็เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จสำหรับการพัฒนากำลังคนของประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.