วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรี อว.พร้อมด้วย ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว.และ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขา รมว.อว. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมการดำเนินงานของอว.ส่วนหน้าในจังหวัดตราด โดยมี ดร.กรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตราด นายวิจิตร พาพลงาม นายอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด และคณะให้การต้อนรับ โดยวันนี้ได้เยี่ยมชมโครงการเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุ ที่ วชช. ตราดร่วมกับ อบต. ห้วยแร้ง ทำหลักสูตรผู้สูงอายุกับความสุขกายสบายใจ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม มีการอบรมใน 5 หลักสูตร สุขภาพผู้สูงอายุ การสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ ศิลปะและดนตรีสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาและวิถีชุมชน นอกจากจะสอนการดูแลสุขภาพ พาออกกำลังกายแล้ว ยังเน้นความรู้เชิงวิชาการด้วย
ต่อจากนั้นได้ไปเยี่ยมชมการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบ้านตาหมึก ที่ถือเป็นของดีประจำจังหวัด ที่ วชช.ตราด มาช่วยพัฒนาแปรรูปจนได้ผลิตภัณฑ์มาตรฐาน GMP โดย วชช.ตราด เข้ามาช่วยการเพิ่มมูลค่า ต่อยอดและแปรรูปสินค้า รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ ทั้ง กะปิ เคย น้ำเคยหวาน เคยสามรส น้ำพริกเคย ปลากุเลาเค็ม นอกจากนั้นโครงการ U2T ก็ได้มาช่วยพัฒนาน้ำเคย เพื่อใช้เป็นปรุงรส ทำให้ถูกใจผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์เก็บได้นาน
แต่ทั้งนี้ทางพื้นที่ก็ยังต้องการความช่วยเหลือจาก วชช.ในการสร้างช่องทางการตลาด บรรจุภัณฑ์ เทรนด์ทางการตลาดใหม่ๆ และช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์กะปิตราดให้เป็นผลิตภัณฑ์ GI เนื่องจากมีความพิเศษเป็นกะปิจากปลาต้นน้ำ รวมถึงการสร้างสตอรี่เป็นแบรนด์ของจังหวัดตราด ให้คนเห็นว่า การประมงเราน้ำสะอาด อาหารก็สะอาดด้วย ใช้เป็นจุดแข็ง ส่งเสริมการข้ามแดนไทยกัมพูชา และการท่องเที่ยวคลองใหญ่
สุดท้ายได้เยี่ยมชมการบริหารจัดการขยะบ้านปลายนา ที่มีกิจกรรมให้ความรู้กำจัดขยะเริ่มต้นจากในครัวเรือน จนเป็นนวัตกรรมชุมชน ปรับเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลับมาใช้ประโยชน์ โดยมี อ.ศิริพงศ์ ศรีเมฆ ปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ริเริ่มจากการคัดแยกขยะ ทาง วชช.ตราดร่วมกับพื้นที่ และสปสช.เข้ามาส่งเสริม เพราะเมืองท่องเที่ยว จะมีขยะเยอะ โดยเริ่มจากทำเป็นหมู่บ้านคัดแยกขยะต้นทาง การกำจัดขยะที่ถูกต้อง การแปรรูปขยะ และยังเสริมด้วยธนาคารปูแสม แปรรูปอาหารทะเล เพื่อรองรับชาวบ้านที่ออกทะเลไปให้มีรายได้
ด้าน ผอ.วชช.ตราด กล่าวเกี่ยวกับการทำงานกับพื้นที่ว่า สำคัญที่ชุมชนต้องเข็มแข็ง และผู้นำให้ความสำคัญ วชช.เพียงมาช่วยจัดการความรู้ วิจัยหาอัตลักษณ์ แต่การขับเคลื่อนด้วยตัวชุมชนเองจะทำได้เร็วกว่าการรองบประมาณจากทางรัฐ เช่น ชุมชนเขาทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลได้ OTOP 4 ดาว แต่เรามาช่วยเรื่องการตลาดและการคงไว้ซึ่งคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ชุมชนยังขาดเด็กรุ่นใหม่มาช่วย ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่สร้างเด็กๆในชุมชนมาอบรมเรื่องการขายออนไลน์ นอกจากนี้ วชช. ยังทำเรื่องเตรียมความพร้อมคนเข้าสู่อาเซียน การค้าชายแดน โดยปรับโครงสร้างพื้นฐาน upskill/reskill คนในจังหวัด ทำศูนย์พัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ทั้งด้านเกษตร และการท่องเที่ยว โดยเน้นต่อยอดภูมิปัญญาของเดิมที่เรามีอยู่แล้ว โดยคำนึงถึง BCG ด้วย ผนวกกับ U2T เราก็สำรวจจากความต้องการชุมชนว่าเขาต้องการอะไร อะไรที่คนใช้กันเยอะ เรามีวิจัยของช่างศิลป์ท้องถิ่น โดยเฉพาะงานจักสานช่างฝีมือที่ส่วนมากเป็นคนสูงอายุ จึงจะสืบสานงานจักสาน โดยเพิ่มการออกแบบที่สร้างสรรค์ ใช้ทรัพยากรที่เรามีจากธรรมชาติ เช่น การจัดสานจากคลุ้ม ทดแทนพลาสติก ยกเป็นงานผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากขึ้น
ทางกระทรวง อว. แนะว่า บทบาทของวชช.ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนที่มีจุดเด่นต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ในส่วนของกระทรวง เรามีอุทยานวิทยาศาสตร์ ของภาคตะวันออก ซึ่งจะอยู่ที่ ม.บูรพา เป็นศูนย์กลางให้มาช่วยได้ ทั้งเรื่องการบ่มเพาะผู้ประกอบการ การยืดอายุผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกได้ ให้ทำงานร่วมกัน ต้องการนวัตกรรมแบบไหนมาช่วย แจ้งหน่วยงานภายในกระทรวง อว. ได้ทั้งงานวิจัยและเครือข่ายการจัดจำหน่ายและช่องทางการตลาด โดยเน้นการตลาดที่เป็นจุดขายของจังหวัดที่แตกต่างจากที่อื่น เน้นเรื่องน้ำสะอาดส่งผลอาหารสะอาด และต้องไม่ทิ้งเรื่องผู้สูงอายุด้วย เพราะเป็นประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำยังไงให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข ปรับตัวได้ในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ลองทำกับโครงการบัณฑิตพันธ์ุใหม่ เรื่องการกำจัดขยะก็ทำได้ดี ฝากคิดเรื่องการขยายไปที่โรงเรียน โรงพยาบาล และร้านอาหารด้วย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย เช่น นอกจากเที่ยวเกาะแล้ว มีตลาดเช้า ตลาดปลา ที่เราทำได้และเรื่องการสร้างคนรุ่นใหม่มาสืบสานศิลปวัฒนธรรม ปลูกฝังให้เข้ารักประเทศไทย ภูมิใจในความเป็นไทยที่เรามี สุดท้ายได้ชื่นชมให้กำลังการทำงานกับพื้นที่ ที่เป็นจุดแข็งของ วชช. โดยมั่นใจว่าเป็นที่พึ่งพาของชุมชนได้อย่างแน่นอน เพราะเรามี วชช.ที่เป็นอว.ส่วนหน้าถึง 10 จังหวัดด้วยกัน และอว.ส่วนหน้านั่นเป็นหน้าตา เป็นตัวแทนของกระทรวงที่พร้อมเป็นด่านแรกที่จะช่วยเหลือชุมชน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.