เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา (หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร) หลักสูตรในประเทศ โดยมี นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน และผู้เข้ารับการอบรมกว่า 41 เข้าร่วม ณ โรงแรม Bangkok Midtown Hotel กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) ได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการหรือผู้ที่มีความจำเป็นพิเศษในระดับอุดมศึกษา ด้วยการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา เพื่อมุ่งเน้นให้คนพิการในสังคมได้รับโอกาสและบริการทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ผลักดันให้ทุกสถาบันอุดมศึกษาเปิดโอกาสและรับคนพิการทุกประเภทเข้าศึกษาโดยไม่ปฏิเสธการรับ โดยการรับเข้าต้องมีสัดส่วนหรือจำนวนที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความพร้อมของสถาบัน และเปิดโอกาสในการรับที่ครอบคลุมกับนักศึกษาพิการทุกกลุ่มประเภทคนพิการ ไม่จำกัดอยู่เพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Inclusive Education โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องจัดระบบการให้บริการทางการศึกษาที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาของคนพิการทุกประเภท และหลักสูตรที่เปิดสอนต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษาที่กำหนด สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยหรือศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (Disability Support Services Center: DSS Center) หรือจัดให้มีงานบริการสำหรับนักศึกษาพิการทุกสถาบัน พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในทุกระดับ รวมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษาพิการจบการศึกษา สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สป.อว. ยังได้สนับสนุนเงินอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการที่ศึกษาอยู่ในระดับอนุปริญญา และระดับปริญญาตรี เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด โดยยึดหลักการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ อัตรา และรายการที่ให้การอุดหนุนดังกล่าว ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ หลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการจึงเป็นอีก 1 หลักสูตรสำคัญที่ สป.อว. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ทุกท่านได้ตระหนักและเข้าใจนโยบาย มาตรการ และวิธีการทำงานกับนักศึกษาพิการได้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า การฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา (หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร) ในประเทศ เป็นกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของคนพิการ ด้วยการขับเคลื่อนมาตรการด้านการให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยความร่วมมือกับ University of Northern Colorado (UNC) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมออกแบบเนื้อหาเพื่อใช้เป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาพิการ เพื่อให้ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะ พร้อมทั้งมีศักยภาพในการจัดบริการทางการศึกษาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสมเหตุสมผล
ภายในงานมีการบรรยายเรื่อง "กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาพิการ" การอภิปรายในหัวข้อ "การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอย่างสมเหตุสมผล (Reasonable Accommodations)" "เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ (Assistive Technology: AT) และ "บทบาทของผู้บริหารที่มีต่องานบริการนักศึกษาพิการ" ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลที่จะใช้ในการศึกษาดูงาน เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการทางการศึกษาที่ช่วยลดอุปสรรคเพราะเหตุแห่งความพิการ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกับนักศึกษาทั่วไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.