รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ ดร.ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมวิชาการนักเรียนไทยและกลุ่มนวัตกรรมไทยในยุโรปประจำปี 2566 (The Academic and Innovation Conference for Thai-European Communities: TICTEC 2023) ณ ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ STARTPLATZ เมืองดุสเซลดอร์ฟ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาชีพและนักเรียนไทยในทวีปยุโรป และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในด้านการทำวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติ และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับมาตรการทางสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป
. .
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "Thailand: Spearheading a Sustainable Path Towards South East Asia's Net Zero Transformation" โดยกล่าวถึงการให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นของประเทศไทยในแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นไปตามประกาศเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมระดับผู้นำสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ในการผลักดันประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ซึ่งกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการพัฒนากลไกความร่วมมือ/เครือข่าย มุ่งเน้นการใช้ อววน. ในการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ผ่านกลไกต่างๆ
รองปลัดกระทรวง อว.กล่าวต่อว่า โดยกลไกที่กระทรวงนำมาใช้ในการดำเนินการ เช่น กลไกด้านความร่วมมือ ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย รวมถึงพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green campus) กลไกการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองภายในประเทศ (Technology transfer และ Technology localization) โดยมีเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น Fuel Switching, Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS), Electrification และ Hydrogen เป็นต้น และกลไกสนับสนุนด้านการเงิน เชื่อมโยงแหล่งทุนจากภายในและภายนอก เช่น หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit: PMU), Green Climate Fund (GCF) และ Global Environment Facility (GEF) ทั้งนี้ มีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ของเสียและมลภาวะ
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ Global Entrepreneurship Centre โดยการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศเยอรมนี (Federal Ministry for Economic Affairs and Energy) รวมทั้งนักวิชาชีพและนักเรียนไทยในทวีปยุโรป และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันในการดำเนินความร่วมมือทั้งด้านวิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน และการค้าและการลงทุน เพื่อขานรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ประเทศไทยและทุกภาคส่วนสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อเสริมสร้างความสามารถแข่งขันและความเติบโตอย่างยั่งยืน
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.