เมื่อวันที่ 1 ก.ย.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ "บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาท้องถิ่น" ภายในงาน "การประชุมสัมมนาและเยี่ยมชมนิทรรศการอุดมศึกษากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน 2566 โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นางสุวรรณี คํามั่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวง อว. นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวง อว. เป็นวิทยากร และมีคณะผู้บริหาร อว. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คณาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วม ณ ห้องภูมิพลินทร์ ตึกคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดโจทย์ให้ที่กระทรวง อว. จะต้องนำมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษามีงานทำและให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ จึงเป็นที่มาของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T โดยมีมหาวิทยาลัยที่เข้ามาร่วมเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนถึง 76 สถาบัน เกิดการจ้างงานครอบคลุม 3,000 ตำบลทั่วประเทศ เกิดการส่งเสริมธุรกิจใหม่ 4,287 ธุรกิจ ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะและเพิ่มขีดความสามารถ ผ่าน 4 หลักสูตร ได้แก่ (1) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (2) การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ (3) การพัฒนาทักษะด้านการเงิน และ (4) การพัฒนาทักษะด้านสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมหลักสูตรทั้งสิ้น 245,634 คน ความสำเร็จของโครงการ U2T ถือเป็นมิติใหม่ของกระทรวง อว. และพิสูจน์ให้ทราบว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพและมีความสามารถในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
ด้าน นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม กล่าวว่า การจัดกลุ่มสถาบันการอุดมศึกษามีเรื่องของพันธกิจและยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งมีเรื่องของการมุ่งไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นแหล่งความรู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งและประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมและสืบทอดพัฒนาความรู้จากผู้ที่มีภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องมี คือ ต้องเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นผู้ผลิตบัณฑิต บุคลากร และประชาชน ซึ่งการจะก้าวไปสู่การบรรลุบทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องเข้าใจถึงหลักการ กระบวนการพัฒนา และเข้าใจเงื่อนไขของพื้นที่นั้น ๆ อย่างแท้จริง
ด้าน นางสุวรรณี คำมั่น กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ล้วนมีข้อจำกัด และต้องใช้ศักยภาพของแต่ละส่วนงาน เราต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะต้องวางแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อกระบวนการบริหารเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะประสบกับส่วนท้องถิ่น บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ จึงเป็นกลไกสำคัญและเป็นหน้าที่หลักของ อว. ที่จะเข้าไปช่วยกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นและชุมชน การวิเคราะห์โอกาสเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงได้ จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ อาทิ เรื่องรายได้ การกระจายโอกาส การกระจายอำนาจ หรือแม้แต่ระบบการศึกษา เราต้องนำยุทธศาสตร์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ มาเติมเต็มศักยภาพและบทบาทของมหาวิทยาลัย เพื่อลดความเลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาด้านการอุดมศึกษา นำไปสู่การสร้างคนในศตวรรษที่ 21 ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น
นอกจากนั้น ภายในวันเดียวกันยังมีการอภิปรายอีก 2 หัวข้อที่ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก ได้แก่ การบรรยายพิเศษ หัวข้อ "โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล" โดย รศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคล (ทปอ.มทร.) และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "มหาวิทยาลัยราชภัฏยุคใหม่" โดย ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.