เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Campus Tour โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” (Semiconductor and Advanced Electronics) ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมี นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้สรุปผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือหลักสูตรแซนด์บอกส์
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. โดยสํานักงานปลัดฯ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยสถาบันอุดมศึกษาในความดูแลของกระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่ายบริษัทเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง จํานวน 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท อนาอ็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส จํากัด (มหาชน) บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) และบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมดําเนินโครงการฯ เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าฝึกงาน ผ่านโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) เพื่อการตอบโจทย์ความต้องการกําลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในระยะเร่งด่วน ซึ่งเป็นโครงการนําร่องผ่านการพัฒนาหลักสูตรแซนด์บอกส์ โดยมุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการกําลังคนในระยะกลางและระยะยาวเป็นลําดับต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยให้มากขึ้น
“เพื่อให้เกิดระบบการผลิตและพัฒนากําลังคนสมรรถนะสูงที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงต้องประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งระดมทรัพยากร ทั้งจากหน่วยผลิตกําลังคน หรือสถาบันอุดมศึกษา และภาคผู้ใช้บัณฑิต หรือสถานประกอบการ รวมถึงการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันท้ังองค์ความรู้ ทรัพยากรบุคคล และโครงสร้างพื้นฐาน โดยกระทรวง อว.จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเริ่มนําร่องจากการรับนักศึกษาฝึกงานในโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ในปีการศึกษา 2567 ซึ่งนักศึกษาจะได้รับโอกาสฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนํา ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจริง และได้รับการเติมทักษะที่สําคัญในการฝึกงานผ่านคอร์สเตรียมความพร้อม (Pre-sessional course) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยทั้งคอร์สออนไลน์ และกิจกรรม Bootcamp นอกจากนี้ ระหว่างฝึกงานยังได้รับค่าตอบแทน และมีโอกาสได้รับการจ้างงานทันทีหลังจบการศึกษา พร้อมรับใบประกาศนียบัตรการผ่านเข้าร่วมโครงการฯ ด้วย” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้ดำเนินโครงการแซนด์บ็อกซ์ดังกล่าวขึ้นมา โดยตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนสมถรรนะสูงอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยได้จัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก อาทิ หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์บัณฑิต โดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ซึ่งตั้งเป้าหมายเพื่อผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลป์ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี หลักสูตรด้านการสร้างผู้ประกอบการที่มีทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูง (High-Tech Entrepreneur) โดยมหาวิทยาลัยหอการค้า ร่วมกับ Harbour.Space ซึ่งตั้งเป้าหมายเพื่อผลิตกำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลกับการประกอบการ จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของแนวทางการผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ผ่านกลไกแซนด์บอกส์ กระทรวง อว.มีแผนการดำเนินการทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ ระยะสั้น ใช้กลไกสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ระยะกลาง ใช้กลไกหลักสูตรแซนด์บอกส์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรมและการทำวิจัยในต่างประเทศสำหรับอาจารย์และนักวิจัย (Staff mobility -Train the trainer) โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้เซมิคอนดักเตอร์เป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศ และทำให้ประเทศไทยได้รับโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ และทำให้ต่างชาติหันมาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมถึงทำให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยได้มีแผนการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ เนื่องจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องริเริ่มกลไกใหม่ในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โดยอาศัยความร่วมมือจากบริษัทระดับแนวหน้าที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ เพื่อทำให้สามารถผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการ พร้อมทำงานได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา และมีจำนวนที่มากเพียงพอที่จะสร้างผลกระทบให้กับประเทศได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.