เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานลงนามความร่วมมือและกิจกรรมแคมปัสทัวร์ (Campus Tour) โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics)” ระดับภูมิภาค - ภาคกลาง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัด อว. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในความดูแลของกระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่ายบริษัทเอกชนระดับชั้นนำของประเทศไทยในอุตสาหกรรม Semiconductor and Advanced Electronics จำนวน 7 แห่ง เพื่อร่วมกันกำหนดแผนและขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนทั้งในระยะสั้น (เร่งด่วน) ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารหน่วยงานเครือข่าย เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า เรามุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นการนำร่องที่ยกเว้นมาตรฐานต่าง ๆ ของเราที่มี เมื่อทำสำเร็จก็จะนำไปใช้จริง และทำให้เป็นหลักสูตรที่ใช้โดยทั่วไป ต่อไปอาจจะไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยที่สอนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาได้เพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากบริษัทที่มีความรู้เฉพาะด้านได้ แต่เราต้องทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถยกระดับการแข่งขัน พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นได้
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ และอำนาจในการจัดให้มีระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง ได้ประสานและริเริ่มขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” โดยใช้แนวคิดรูปแบบความร่วมมือสามประสาน ประกอบด้วย 3 ภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ร่วมกันพัฒนาให้เกิดระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนได้อย่างทันท่วงทีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ขณะที่ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงมีการเติบโตอย่างมาก ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อัจฉริยะที่เพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก มีความพร้อมในการเชื่อมเข้ากับห่วงโซ่อุปทานโลกได้ทันที มีความได้เปรียบด้านที่ตั้งและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งสร้างความสามารถด้านการแข่งขันด้วยการดึงดูดบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เข้ามาตั้งเป็นฐานการผลิตเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและดูดซับเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานประกอบการในประเทศเพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขัน ซึ่งทั้งสองแนวทางต้องการกำลังคนสมรรถนะสูงที่มีองค์ความรู้และทักษะที่ก้าวทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปริมาณที่เพียงพอและทันท่วงที
“การพัฒนาให้เกิดระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนได้อย่างทันท่วงทีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว นำมาสู่การร่วมดำเนินโครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” โดยเริ่มนำร่องจากการผลิตกำลังคนเพื่อตอบความต้องการระยะสั้น (เร่งด่วน) ผ่านการรับนักศึกษาฝึกงานในโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ ซึ่งนักศึกษาจะได้รับโอกาสฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำ โดยมีความพิเศษอยู่ที่การเพิ่มเติมทักษะที่เป็นความต้องการของภาคผู้ประกอบการจากกิจกรรมคอร์สออนไลน์ และค่ายเตรียมความพร้อม และระหว่างฝึกงานได้รับค่าตอบแทน มีโอกาสในการจ้างงานหลังจบการศึกษา พร้อมใบรับรองการผ่านเข้าร่วมโครงการฯ” นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.