(วันที่ 9 ตุลาคม 2563) ณ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี : ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
โดยเป้าหมายของความร่วมมือคือการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนและบูรณาการหลักสูตรการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project based Learning) ในการจัดการเรียนการสอนด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and AI) ภายใต้หลักการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง (STEM Education) นอกจากนี้ รมช.ศธ. ยังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการ ACT AI Lab ซึ่งเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้และต่อยอดทักษะด้าน AI ของนักเรียนอีกด้วย
ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี (ACT) กล่าวว่า “การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในสังคมยุคปัจจุบัน และการคาดการณ์ต่อการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีในสังคมอนาคต ทำให้โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเด็กไทยให้มีทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับแนวโน้มของพัฒนาการทางด้านสังคมในศตวรรษที่ 21 จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมและวิทยาการหุ่นยนต์จึงเป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนที่สมควรได้รับการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อจะได้เกิดความคุ้นเคยและมีทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้เทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีจึงมีแนวคิดที่จะสร้างหลักสูตรและรูปแบบการสอน โดยบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาประยุกต์รวมกับหลักสูตรการเรียนการสอนปกติ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (learning by doing)”ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านเนื้อหาทฤษฎี
ด้วยแนวคิดดังกล่าว โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีจึงได้จัดทำโครงการ “ACT CREATIVE AND INNOVATIVE LEADER” เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษา จากกลุ่มสาระฯ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ให้มีทักษะที่สามารถบูรณาการเทคโนโลยีเข้าไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อจะได้เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการทำงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในการพัฒนาต้นแบบสื่อการเรียนการสอนสำหรับใช้ในหลักสูตรเชิงบูรณาการเพื่อการเรียนรู้แบบโครงการ รวมถึงการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้พื้นฐานที่จำเป็นให้แก่ครูกว่า 40 คน เพื่อให้ครูเข้าใจการบูรณาการศาสตร์ทางด้านการเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในหลายมิติ
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า “ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่เศรษฐกิจและสังคม ในยุคที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิสรัปทีฟ (disruptive technology) ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกอนาคต การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมให้มีทักษะที่จำเป็นจึงไม่ใช่ภาระหน้าที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น ความร่วมมือระหว่างเอ็มเทคและโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีในการพัฒนาต้นแบบสื่อการเรียนการสอนและหลักสูตรเชิงบูรณาการสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 นับเป็นมิติใหม่ในการวางรากฐานการปฏิรูปการเรียนการสอนแบบ STEM Education อย่างเป็นรูปธรรม”
ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยจากกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ มีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ ระบบเซ็นเซอร์และปัญญาประดิษฐ์มาบูรณาการกับหลักสูตรการสอนปกติโดยการพัฒนาต้นแบบสื่อการเรียนการสอน Garden of STEM ซึ่งเป็นต้นแบบที่นักเรียนสามารถเรียนรู้การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์ (hydroponics) ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชรวมถึงปริมาณน้ำ ปุ๋ย ความชื้น อุณหภูมิ และย่านแสง RGB ได้ตามเงื่อนไขการออกแบบการทดลอง สื่อการเรียนการสอนนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้มีโอกาสเรียนรู้ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยการเก็บข้อมูลจากระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ นักเรียนจะได้เรียนรู้ทักษะการเขียนโปรแกรม การนำเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ มาตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์และวิธีการในการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมสร้างธุรกิจในชุมชน การเรียนรู้นี้ยังเป็นผลดีที่จะกระตุ้นให้มีความคุ้นเคยที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำการเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) ตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเกษตรในระยะยาว
ผลงานต้นแบบอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องยิงลูกบอลแบบโพรเจกไทล์ (projectile) ซึ่งออกแบบให้นักเรียนได้นำความรู้ทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมไฟฟ้า โดยนำความรู้ทางด้านการโปรแกรมไมโครคอนโทรลเลอร์มาผนวกกับการใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในการเคลื่อนที่แนววิถีโค้งโพรเจกไทล์ ความร่วมมือกันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเด็กไทยให้มีความรู้และทักษะที่พร้อมจะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและก้าวสู่การเป็น Deep Tech Startup ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมแข่งขันในอุตสาหกรรมของโลกอนาคตได้
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับและก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและบูรณาการเพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เน้นการปฏิรูปไปที่ ตัวผู้เรียน เตรียมพร้อมคนก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในโอกาสที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้แบบโครงงานด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยส่งเสริมครูผู้สอนที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาการศึกษาจากสาขาวิชาต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่ไม่เป็นภาระงานในห้องเรียนกับทั้งผู้เรียนและผู้สอน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา ให้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและการทำงานของผู้เรียนในอนาคต รวมถึงหากมองไปข้างหน้าจะพบว่า การส่งเสริมการศึกษาด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยเน้นการปฏิบัติจริงและศึกษาข้อมูลเชิงลึก เป็นการบ่มเพาะเยาวชนและสนับสนุนให้เกิด Deep Tech Innovation ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ปฏิบัติการ ACT AI Lab ที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีจัดตั้งขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.