กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ณ ห้องประชุมพิทยา จารุพูนผล ชั้น 5 อาคารเทพนม เมืองแมน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
วันที่ 30 พ.ย. 2563 - จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน การพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงเกิดความร่วมมือในการลงนามร่วมกันภายในเครือข่ายย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ที่มุ่งสร้างต้นแบบเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อนวัตกรรมการแพทย์ของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาย่านนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 2 กระทรวงคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด จึงจับมือกันร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” เพื่อร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และการมีส่วนร่วมแบบโปร่งใส เพื่อเป้าหมายของการ “อยู่ เป็น สุข” และร่วมมือกันผลักดันผลงานวิจัยนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาจากหิ้งสู่ห้าง ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพและการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ Thailand 4.0 ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พร้อมทั้งขับเคลื่อนการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้องค์ความรู้ “อยู่ เป็น สุข” (V Wellbeing) ส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรมให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานและเป็นผู้แทนลงนาม พร้อมทั้งรองศาสตราจารย์ธราดล เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นพยานในการลงนาม และได้รับเกียรติจาก นายภาคภูมิ เพิ่มมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด ให้เกียรติเป็นผู้แทนร่วมลงนาม พร้อมทั้งคุณนิตยา บุญเป็ง ผู้ประสานงานวิจัยเชิงพาณิชย์ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด ร่วมเป็นพยานในการลงนาม โดยเป็นผู้แทนของรองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาด้านกฏหมายและทรัพย์สินทางปัญญา บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด
ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ความร่วมมือของคณะสาธารณสุขฯ กับ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด สืบเนื่องมาจากแผนงานของเราทั้งสองฝ่ายนั้น นอกจากจะตอบโจทย์ Health Literacy ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ เข้าถึง เข้าใจ โต้ตอบ ซักถาม แลกเปลี่ยน ตัดสินใจ เปลี่ยนพฤติกรรม และบอกต่อ ตามนโยบายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชน คณะสาธารณสุขฯ ของเรายังต้องการองค์กรที่จะมาช่วยตอบโจทย์ด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้กับเราด้วย นั่นก็เพราะคณะสาธารณสุขฯ ของเราสามารถเป็นนวัตกรรมสังคมให้กับผู้คนได้ด้วยตัวเอง แต่เรายังขาดองค์กรที่จะมาต่อยอดนวัตกรรมด้านดิจิทัลและไอทีที่สามารถเข้ากับ Health Literacy ของคนทั่วไปได้แบบง่ายๆ ทางบริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ฯ มาเสนอแผนงานให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราจึงเลือกที่จะลงนามความร่วมมือด้วย”
ดร.ชะนวนทอง บอกอีกว่า “การที่ตัดสินใจลงนามร่วมมือกับ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ฯ สิ่งสำคัญอีกประการก็
คือ การมีค่านิยมร่วมที่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจที่วัดเพียงตัวเงิน หรือรายได้เท่านั้น แต่เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้กับสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตีค่าไม่ได้ อีกอย่างบริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ฯ ไม่ได้เอางานวิจัย หรือนวัตกรรมที่มีมาขาย แต่นำมาเพื่อพัฒนาร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าให้กับทุกคน และช่วยลดช่องว่างระหว่างฐานะได้ นี่คือหลักการของงานสาธารณสุขที่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ”
“ดิฉันมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามร่วมมือกันในครั้งนี้ นอกจากจะตอบโจทย์ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับทุกคนอีกด้วย เพราะยุคนี้คำว่า สุขภาพกับเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กันไป ยิ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดนี่ยิ่งสำคัญ เนื่องจากเราจะอยู่คนเดียวในสังคมไม่ได้ เราต้องพึ่งพากัน และมองไปในทางบวก ดิฉันมองว่านักธุรกิจก็เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางที่ต้องเดินไปด้วยกัน ยิ่งงานวิจัยที่ทำให้สังคมดีขึ้น เรายิ่งต้องส่งเสริมสนับสนุน แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และทำด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ผลที่ได้ออกมาดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะงานสาธารณสุขไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนด้วย อย่างโครงการ ‘สูงเนินโมเดล’ ที่ดิฉันเคยทำที่ จ.นครราชสีมา ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2561 จนมาถึงปัจจุบันนี้ เชื่อมั้ยว่าเราสามารถช่วยให้มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่สูงเนินน้อยลงอย่างมาก เพราะทุกคนที่เข้าร่วมได้รับความรู้และหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเองอย่างจริงจังนั่นเอง”
ดร.ชะนวนทอง พูดถึงแนวคิด ‘อยู่ เป็น สุข’ หรือ V Wellbeing ว่า V หมายถึง เราทุกคน ที่ต้องเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลในเรื่องการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง และคำว่า Wellbeing หมายถึง สุขทั้งในและนอก อยู่ตรงไหนก็สุข เพราะรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร และรู้ว่าเพื่อน หรือครอบครัวเราทำอะไร คือต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะสามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข
“สำหรับแนวคิดในการขับเคลื่อน หรือผลักดันงานวิจัยด้านสุขภาพ ตามความคิดของดิฉัน คือ การแชร์ความรู้ให้กันและกันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกับหลักการของ Health Literacy ที่สุดเลย เพราะทุกคนเป็นหมอด้วยตัวเองในเรื่องสุขภาพได้ ฉะนั้น ก่อนที่จะเจ็บป่วย เราต้องรู้วิธีป้องกัน หรือเมื่อเจ็บป่วยแล้ว เราต้องสามารถพูดคุยกับหมอที่โรงพยาบาลรู้เรื่อง นี่คือสิ่งที่คณะสาธารณสุขฯ ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนและผลักดัน เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคในเรื่องสุขภาพที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน”
ด้าน นายภาคภูมิ เพิ่มมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด พูดถึงความเป็นมาของการจับมือร่วมกันทำงานด้านวิจัยให้ฟังว่า “เนื่องจากย่านโยธีเป็นพื้นที่ ที่เน้นในเรื่องนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความเป็นมาที่ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ฯ ได้มาร่วมมือกับคณะสาธารณสุขฯ ม.มหิดล เนื่องมาจากประเทศไทยของเรานั้น เป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่ถือเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยบริการที่ดีกว่า และราคาที่เป็นมิตร เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เมืองไทยจึงได้เปรียบ สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ บ้านเรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเป็นที่พักฟื้นให้ผู้ป่วยซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก จะไปภูเขา หรือทะเลก็เดินทางแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น แถมค่าครองชีพในบ้านเรายังไม่สูงมาก รัฐบาลจึงต้องการโปรโมทเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์อย่างโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น สปา และเวลเนส ซึ่งบ้านเรามีชื่อเสียงเป็นอย่างดีอยู่แล้วทั่วทุกภูมิภาคของไทย พอเรานำโครงการนี้มาเสนอกับท่านคณบดีคณะสาธารณสุขฯ ท่านก็เห็นด้วยทันที เพราะเป็นสิ่งที่คณะสาธารณสุขฯ ต้องการจะผลักดันในเรื่องนี้อยู่แล้ว”
นายภาคภูมิ บอกว่า “บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ฯ เคยเซ็นสัญญาลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ชั้นนำมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือกันในการพัฒนา นวัตกรรมการแพทย์เชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) ดังนั้น เมื่อลงนามกับคณะสาธารณสุขฯ ม.มหิดล ก็จะเน้นนโยบาย ‘การป้องกัน’ ซึ่งจะช่วยลดทั้งค่ายา ค่ารักษา และค่าเครื่องมือแพทย์ เป็นการช่วยประหยัดงบประมาณให้กับรัฐบาลได้อีกทางหนึ่ง เพราะต่อให้คุณเป็นคนร่ำรวยมีเงินเยอะ แต่ถ้าคุณต้องมาเจ็บป่วยบ่อยๆ คุณก็ไม่มีความสุขแน่นอน ดังนั้น มาหาทางป้องกันไว้ก่อนเป็นการดีที่สุด”
“สำหรับบทบาทของ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ฯ เราถือว่าเราเป็นบริษัทเอกชนรายแรกๆ ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลได้ชวนเรามาร่วมมือด้วย ด้วยความที่บริษัทเราได้รับการสนับสนุนด้านนวัตกรรมมาโดยตลอด 11 ปี ทั้งทุนวิจัย ทั้งการประชาสัมพันธ์งานวิจัย ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำงานวิจัยจากบนหิ้งไปสู่ห้าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการนำงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เมื่อ NIA ต้องการสนับสนุนงานวิจัยให้มีอิมแพคมากขึ้น NIA จึงมีนโยบายในการสนับสนุนให้เกิดย่านนวัตกรรม อย่างที่ได้บอกไว้ว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อันดับ 1 ของโลก ฉะนั้น ย่านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพโยธีจึงเหมาะสมมาก เพราะมีโรงพยาบาลและสถาบันวิจัยการแพทย์ตั้งอยู่เยอะอยู่แล้ว”
“รูปแบบการทำงานของเรา คือ จะต้องคุยกับนักวิจัยก่อน ว่างานวิจัยไหนสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้บ้าง เช่น ถุงเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยูเรีย ชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่บริษัทเราทำขึ้นมา คุณสมบัติ คือ ถุงเท้านี้จะช่วยลอกผิวหนังเท้าของผู้ป่วยเบาหวานให้หลุดร่อนออกมาโดยง่าย เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณเท้าเกิดแผลกดทับ แล้วลามเป็นแผลไม่หายจนถึงขั้นผู้ป่วยต้องตัดขา หรือจะเป็นนวัตกรรมวัสดุเส้นใยชีวภาพขึ้นรูปจากน้ำมะพร้าวที่นำมาทำเป็นแผ่นมาส์กหน้าส่งไปขายที่เกาหลี ซึ่งมาส์กนี้สามารถช่วยป้องกันฝ้าและป้องกันการอักเสบที่เกิดจากการยิงเลเซอร์เพื่อความงามบนใบหน้าได้ เป็นต้น”
“ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ก็ยิ่งเข้ากับนโยบายการป้องกันของเราพอดีเลย สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ในตอนนี้ คือ การป้องกัน โดยทำให้สุขภาพของตัวเองแข็งแรงเข้าไว้ วิธีการของเรา คือ เปลี่ยนวิธีให้ข้อมูล เป็นภาษา หรือ รูปภาพ ที่เข้าใจได้ง่าย สอดคล้องกับวิถีชีวิต และภูมิสังคม ของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อเขาจะได้นำข้อมูลไปใช้ ในการตัดสินใจได้ และ ทำตามที่ตัดสินใจจนสำเร็จ ซึ่งกระบวนการนี้ เรียกว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) เช่น ลดการกินยา โดยเลือกรับประทานอาหารที่ได้คุณค่าแทน ลดการรับประทานเค็มครึ่งหนึ่ง หรือลดการรับประทานหวานครึ่งหนึ่ง เป็นต้น โดยเราจะมีเครื่อง Bio Feedback ซึ่งเป็นเครื่องสแกนดิจิทัล เพื่อตรวจวัดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเครื่องนี้จะสะท้อนผลลัพธ์ออกมาให้เห็นว่า มีอวัยวะส่วนไหนภายในร่างกายของเราที่กำลังมีความผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง ทำให้เรารู้ถึงสาเหตุและรีบป้องกันการเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมการทำ Urban Farm โดยใช้พื้นที่ของดาดฟ้าตึกปลูกผัก และใช้ระบบดิจิทัลรดน้ำอัจฉริยะ โดยการวัดสภาพอากาศและควบคุมเวลาเปิด-ปิดน้ำผ่านแอพพลิเคชั่น มีโรงเรือนกางมุ้ง และมีห้องแล็บ เพื่อตรวจสอบเรื่องยาฆ่าแมลง เชื้อโรค รวมทั้งไข่พยาธิด้วย ซึ่งเราจะใช้ตรงนี้เป็นโมเดลในอนาคต โดยจะเริ่มลงมือทำในเดือนธันวาคมนี้” นายภาคภูมิ กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.