(22 มกราคม 2564) ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้มอบนโยบายและมาตรการของประเทศเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นเอกสารละเอียดถึง 200 หน้า ครอบคลุมนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ค่อนข้างมาก รวมทั้งได้มีคำสั่งและบันทึกการสั่งการดำเนินงานทันทีกว่า 12 ฉบับ
สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลก จนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 25 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 420,000 คน สถานการณ์ยังรุนแรงมากและอาจจะแพร่กระจายต่อได้อีก มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศและของโลกอย่างมาก ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเรื่องโควิด-19 จึงเป็นความสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลสหรัฐ และเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก
นโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านโรคโควิด-19 ที่ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศออกมานั้น มีพื้นฐานและเป้าหมายสำคัญ 7 ประการ ได้แก่
1. ฟื้นฟูความไว้วางใจให้กับชาวอเมริกัน
2. เร่งให้มีการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างครอบคลุม
3. ควบคุมการแพร่ระบาดผ่านมาตรการใส่หน้ากากอนามัย การตรวจ การรักษา ระบบข้อมูล ผู้ปฏิบัติงานและมาตรฐานด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน
4. ขยายมาตรการบรรเทาเหตุฉุกเฉินและบังคับใช้กฎหมายการผลิตสินค้าจำเป็นเพื่อความมั่นคงโดยทันที
5. เปิดโรงเรียน ธุรกิจและการเดินทางอีกครั้งอย่างปลอดภัย ในขณะที่ดูแลคนทำงานไปพร้อมกัน
6. ดูแลปกป้องผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด และคำนึงถึงความเสมอภาคทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รวมทั้งพื้นที่เมืองและชนบท
7. ฟื้นฟูความเป็นผู้นำของสหรัฐในเวทีโลก รวมทั้งสร้างความพร้อมต่อภัยคุกคามในอนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ในการนี้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ประธานาธิบดีไบเดน ได้เซ็นคำสั่ง 12 ฉบับรวด ประกอบด้วย คำสั่งทางการบริหาร 10 ฉบับ และบันทึกของประธานาธิบดีอีก 2 ฉบับ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปดำเนินการ ได้แก่
คำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดี (Executive orders)
1. ให้หน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัคซีนและ PPE โดยใช้อำนาจหน้าที่ทั้งหมดรวมทั้งกฎหมายการผลิตสินค้าจำเป็นเพื่อความมั่นคง (DPA)
2. ให้สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSHA) ประกาศแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยของแรงงานและผู้ปฏิบัติงาน
3. จัดตั้งคณะกรรมการดูแลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา
4. ให้นักวิทยาศาสตร์ของภาครัฐเร่งพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ สำหรับ COVID-19
5. ให้กระทรวงสุขภาพและบริการประชาชน (HHS) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ให้คำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดโรงเรียนอีกครั้งอย่างปลอดภัย
6. ให้หน่วยงานต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถในการรวบรวมข้อมูลและรายงาน
7. จัดตั้งคณะทำงานด้านความเสมอภาคทางสุขภาพ มุ่งเน้นแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางสุขภาพทั้งด้านเชื้อชาติ/ภูมิศาสตร์ โดยมี Dr.Marcella Nunez-Smith เป็นประธาน
8. เพิ่มการรวบรวมข้อมูล การแบ่งปันและการวิเคราะห์ข้อมูล COVID-19 รวมทั้งให้ครอบคลุมเรื่องเชื้อชาติและชาติพันธุ์
9. ให้สวมหน้ากากอนามัยบนเครื่องบิน รถไฟ และระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ
10. ให้ขยายการบริการสถานพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
บันทึกของประธานาธิบดี (Presidential memos)
1. สนับสนุนเงินทุนชดเชยเพื่อจัดหา PPE สำหรับโรงเรียนโดยสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (FEMA)
2. สั่งการ FEMA ให้เพิ่มเงินทุนชดเชยของรัฐสำหรับกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) จาก 75% เป็น 100%
ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.