สอวช. จับมือ UNEP จัดประชุม CELP Summit 2021 เปิดเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เชิญผู้นำภาครัฐ – ภาคการศึกษา - ภาคเอกชนไทยและต่างชาติ แชร์แนวทางขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายถึงระดับปฏิบัติการ เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุม The Circular Economy Leadership & Partnership Summit หรือ CELP Summit 2021 ระหว่างวันที่ 17 - 18 มีนาคม 2564 โดยเป็นงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สอวช. กับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำในอุตสาหกรรมที่จะมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนแนวทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเวทีสำหรับนักวิจัยในการจัดลำดับความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีที่จะพูดคุยเพื่อสร้างความตระหนักให้พลเมืองของโลกในการปรับพฤติกรรมการบริโภคไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้ บีซีจี โมเดล เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ รวมถึงไทยได้ตั้งมั่นเพื่อนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสำคัญคือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ไม่เพียงแต่ใช้การรีไซเคิลหรือการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนการหมุนเวียนที่เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ “Circularity By Design” ซึ่งผลิตภัณฑ์จะต้องถูกออกแบบให้เข้ากับแนวคิด 6R คือ Reuse, Repairs, Refurbish, Remanufacture, Recycle, Recovery ทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด และยังนำไปสู่โอกาสสำหรับการพัฒนาให้เกิดธุรกิจแนวใหม่อีกด้วย ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนโยบาย ระเบียบข้อบังคับ เทคโนโลยี นวัตกรรม รูปแบบธุรกิจ และการเงิน การลงทุน การจัดการประชุมในครั้งนี้จึงได้รวมผู้นำทั้งในไทยและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปัน ให้แรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก
เปิดการประชุมด้วยปาฐกถาพิเศษนำเสนอภาพรวมของ บีซีจี โมเดล โดยมุ่งเน้นไปที่กรอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนของ UNEP ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ Mr. Mushtaq Memon ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคเพื่อการใช้งานทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในเอเชียและแปซิฟิก, UNEP
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาจากเศรษฐกิจชีวภาพ มีหัวใจสำคัญคือการขยายระยะเวลาการใช้งานทรัพยากรให้ได้นานที่สุด ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ผ่านกระบวนการที่ต่างกันออกไป เช่น การรีไซเคิล, ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือการแบ่งปันกันใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินงานตาม บีซีจี โมเดล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณ 21% ของ GDP หรือคิดเป็น 3.5 ล้านล้านบาท และมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าให้เป็น 4.5 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
“ในปีที่แล้วเราได้ทำสมุดปกขาวด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติ ส่วนหนึ่งคือการร่วมกันแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ในเรื่องการจัดการปัญหาขยะ ของเสีย และอีกส่วนหนึ่งคือการสร้างโอกาสในธุรกิจใหม่ สร้างกิจกรรมทางธุรกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ออกแบบโปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี (CE Anchor Programs) ประกอบด้วย CE Champions สนับสนุนข้อริเริ่มที่มีผลกระทบสูงด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาคเอกชน,CE Platforms พัฒนาช่องทางในการแก้ปัญหา เพื่อรองรับกลุ่มผู้เล่นต่างๆ ที่หลากหลาย,CE R&D ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม,และCE Citizen สร้างคนและตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนและในปีนี้จะดำเนินการต่อเนื่องตามโมเดลการขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นในด้านการแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน,การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ผลิตและรีไซเคิล, การหมุนเวียนอาหารเหลือทิ้ง, แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ด้าน Mr. Mushtaq Memon ให้ข้อมูลว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มการเติบโตของจำนวนประชากร โดยภายในปี 2030 สัดส่วน 2 ใน 3 ของประชากรชนชั้นกลางของโลกจะอาศัยอยู่ในเอเชียแปซิฟิก และจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจาก 7 พันล้านคนในปัจจุบันเป็น 9 พันล้านคนภายในปี 2050 ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาของเศรษฐกิจและการค้าระดับโลก การเพิ่มขึ้นของคนชนชั้นกลางยังส่งผลต่อรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป และการเพิ่มขึ้นของการอุปโภคบริโภคสินค้า เมื่อปริมาณการบริโภคสูงขึ้น จะทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากร เกิดความผันผวนของราคาสินค้า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทั้งมลภาวะทางน้ำ ทางอากาศ เราจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP) ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
“เริ่มจากการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้และการบริโภคทรัพยากรทางธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินการต้องมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ มีกรอบการกำกับดูแล การออกแบบทางภาษีที่เกี่ยวข้อง, ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ในการสนับสนุนด้านการลงทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้, และประชาชนในสังคม ที่ต้องตระหนักในการร่วมกันขับเคลื่อน ร่วมปฏิบัติ สร้างวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา UNEP ได้จัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อผลักดันในด้านนี้ เช่น การจัดคอร์สสอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน, การจัดเวิร์คช้อปการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะอย่างยั่งยืน, การจัดระบบสัมมนาออนไลน์ด้านนวัตกรรม และสตาร์ทอัพสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น” Mr. Mushtaq กล่าว
ในการประชุมครั้งนี้ยังได้จัดเวทีพูดคุยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมในหลายหัวข้อร่วมกับตัวแทนผู้นำจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ แพลตฟอร์มระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย, แพลตฟอร์มเศรษฐกิจหมุนเวียนในต่างประเทศ, บทบาทของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ พร้อมกรณีศึกษาในต่างประเทศ ทั้งจากออสเตรเลีย จีน เกาหลี อินเดีย และเนเธอแลนด์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำแนวทางไปปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ความท้าทายในการดำเนินงาน รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและพัฒนาความร่วมมือระดับโลกในบทบาทของรัฐบาล
ต่อเนื่องในวันที่ 2 เป็นการพูดคุยร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นผู้นำในระบบนิเวศธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย เกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ครอบคลุมในหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอ, การท่องเที่ยว/การบริการ, การเกษตร/อาหาร, บรรจุภัณฑ์ และการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงโครงการหลักด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ UNEP ทั้งแพลตฟอร์มการหมุนเวียน แนวโน้มสิ่งแวดล้อมของโลกสำหรับการทำธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาแผน พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ แนวทางการใช้เทคโนโลยี กลไกขับเคลื่อนเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
ในช่วงท้ายมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจ ที่เน้นบทบาทของเทคโนโลยี นวัตกรรม และโมเดลธุรกิจ ที่พูดถึงบทบาทการสนับสนุนของรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และภาคเอกชนในการพัฒนาและการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม โมเดลธุรกิจมาใช้ ปิดการประชุมด้วยการพูดคุยถึงเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกับความยั่งยืนทางการเงิน โดยได้มีการพูดคุยและให้ความสำคัญกับแนวทางการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน ในการเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการแก้ปัญหาด้านแหล่งเงินทุน
.
ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวปิดท้ายงานประชุมครั้งนี้ว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดระยะเวลาการประชุม 2 วันที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน จากนี้ สอวช. จะสานต่อในเรื่องการทำแพลตฟอร์ม สร้างให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และทำนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ซึ่งจากการพูดคุยหลายภาคส่วนต้องการนโยบายในการสนับสนุนที่ชัดเจน แต่นอกเหนือจากนโยบายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความตระหนัก และการสร้างตลาด ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะร่วมทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไปด้วยกัน
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/7326/
ข้อมูล : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.