สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่ง 3 ตัวแทน นักเรียน นิสิต-นักศึกษา และครูฟิสิกส์ที่เคยเข้าร่วมโครงการฤดูร้อนเซิร์น ขึ้นเวทีปันประสบการณ์แลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้รับจากองค์กรเจ้าของเครื่องเร่งอนุภาคระดับโลก อันเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวครบรอบ 20 ปีในปีนี้
ดร.พิมพร ผาพรม จากโรงเรียนท่าคันโทวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ อดีตครูผู้ร่วมโครงการครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น พร้อมด้วย
นายวิชญนันท์ วชิรภูษิตานันท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักศึกษาผู้ร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเซิร์น และนางสาวสรัญญ์ภัทร์ ลิมปิจำนงค์ อดีตนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ร่วมโครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น ได้เสวนากิจกรรมนักเรียน, นิสิต,นักศึกษา และครูในโครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและเซิร์น โดย รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผศ.ดร.ชิโนรัตน์ กอบเดช จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), ผศ.ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.สาคร ริมแจ่ม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.นรพัทธ์
ศรีมโนภาษ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สถานีทดลองซีเอ็มเอส (CMS) ขององค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป
หรือเซิร์น (CERN) ในการนำเยี่ยมชมเสมือนจริง เพื่อให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนชาวไทยที่สนใจได้เดินทางเสมือนจริงสู่
สถานีตรวจวัดอนุภาคที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 100 เมตร ภายใต้พรมแดนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์
กิจกรรมข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงาน 20 ปีของความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มต้นจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2543 และได้เสด็จเยือนอีกทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 25 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ได้ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ตามพระราชดำริฯ แบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หลังทรงเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ทั้งนี้ กิจกรรมเสวนาและการนำชมเสมือนจริงดังกล่าวได้จัดร่วมกับการอบรมโครงการฟิสิกส์อนุภาคขั้นพื้นฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์นภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น ซึ่งโครงการความร่วมมือไทย-เซิร์นนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถานีทดลองซีเอ็มเอส (CMS) ได้ลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงความร่วมมือกันทางวิชาการ ในระหว่างที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นเป็นครั้งที่ 3 และได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามในครั้งนั้นด้วย
หลังการลงนามดังกล่าวสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เริ่มคัดเลือกนักศึกษาและครูฟิสิกส์เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์นตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 และเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานระหว่างไทยและเซิร์น และมีการคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพเพื่อไปศึกษาดูงานที่เซิร์นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2556 จากการดำเนินงานจนถึงปัจจุบันมีครูฟิสิกส์เข้าร่วมโครงการ 33 คน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 22 คน นักเรียนมัธยมปลายเข้าร่วมโครงการ 94 คน และครูฟิสิกส์ผู้ควบคุมนักเรียนอีก 14 คน และไทยยังมีความร่วมมือกับเซิร์นอื่นๆ อีก เช่น ความร่วมมือด้านเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อการแพทย์และประยุกต์อื่นๆ ความร่วมมือกับสถานีวิจัยอลิซ (ALICE) ของเซิร์น
ข้อมูล : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.