กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัด กิจกรรม Pitching เพื่อการต่อยอดธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ในงาน “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพรายใหม่” ภายใต้กิจกรรม : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ และพิธีมอบรางวัลโครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30–16.00 น. ณ ห้องบอลรูม ชั้น 5 โรงแรม S31 สุขุมวิท 31 กรุงเทพมหานคร
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีกล่าวเปิดงานและพิธีมอบรางวัลโครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ และดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวรายงาน
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) มีภารกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) อันประกอบด้วย การส่งเสริมการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งในตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมา ทีเซลส์ (TCELS) ได้ทุ่มเทและมุ่งมั่นดำเนินการตามภารกิจนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง”
“ทีเซลส์ (TCELS) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ ภายใต้กิจกรรม : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้พร้อมเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการพัฒนาธุรกิจชีววิทยาศาสตร์นั้นจำเป็นต้องอาศัยทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่มีความลึกซึ้ง และรายละเอียดสูง เพื่อดำเนินการให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมที่เป็นการให้บริการ ที่สำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ดังนั้น การถ่ายทอดคุณค่าของผลิตภัณฑ์ หรืองานวิจัย จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา และต่อยอดธุรกิจ ให้เกิดการรับรู้ ผลักดันและสร้างมูลค่าให้กับคุณค่าของผลงานที่นักวิจัยได้พัฒนางานขึ้นมาได้ กิจกรรม Pitching นี้ จึงมุ่งเน้นการจัดให้มีให้มีจับคู่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญการตลาดและนักวิจัย ในการเสริมสร้างความร่วมมือที่จะช่วยถ่ายทอดให้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์ โครงการนี้จัดขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ จากหิ้งสู่ห้าง โดยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและส่งเสริมผลงานวิจัย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของทีเซลส์ (TCELS) ในด้านการเชื่อมโยง และนำพาเครือข่ายร่วมกันพัฒนาธุรกิจและการลงทุน ให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ตามยุทธศาสตร์หลักขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
“โดยในปีนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 ทีม จากผู้สมัคร 28 ทีม ซึ่งมาจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย แบ่งเป็นกลุ่มเภสัชภัณฑ์ จำนวน 2 ทีม กลุ่มสารสนเทศทางการแพทย์ จำนวน 3 ทีม กลุ่มเครื่องสำอางและเสริมอาหาร จำนวน 4 ทีม และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ 11 ทีม และในวันนี้กิจกรรมได้ดำเนินการมาถึงช่วงสุดท้าย โดยได้จัดกิจกรรมการประกวดขึ้น เพื่อให้ได้ทีมที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอแผนธุรกิจ จำนวน 3 ทีม โดยผ่านการพิจารณาและตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงด้านการพัฒนาธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทย ได้แก่ ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านชีววิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, นายแพทย์พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส ประธานกรรมการบริหาร BBH Hospital Group และอุปนายกสมาคม Thailand Business Angel Network, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระนันท์ คำนึงวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คุณสรญา พิบูลกุลสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกองทุนร่วมลงทุน ธนาคารกรุงไทย และว่าที่ ร้อยเอก ภก. ดร. วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากนักลงทุน นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชน ที่สนใจเข้ารับฟังและร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวัน เพื่อสร้างโอกาสและเครือข่ายทางธุรกิจในอนาคตสืบต่อไป” ดร.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “กระทรวง อว.เป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้การให้ทุน โดยจะให้ทุนสนับสนุนและช่วยผู้ประกอบการ ในการที่จะก้าวข้ามผ่านงานวิจัยจากกระดาษเข้าไปสู่การผลิตจริง ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ นอกจากให้ทุนแล้ว อว. ยังให้คำแนะนำในเรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ อีกด้วย ผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาจาก อว. ได้ ที่ผ่านมา อว. มีการปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ เช่น ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา อว. มีโครงการ “อว. พารอด” เปลี่ยนกลุ่มรอเป็นกลุ่มรอด โครงการที่เกิดจากการรวมพลังทุกภาคส่วนของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ระดม “ของดีและคนดี” กองหนุนฟันฝ่าวิกฤตโควิด ดึงจิตอาสาอาสาสมัครช่วยผู้ป่วย พร้อมส่งยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็น โดยส่งต่อมอบกำลังใจและความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชนคนไทยให้ผ่านวิกฤตโควิดนี้ไปด้วยกัน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ประชาชนคนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่เกิดจากการคิดค้นของคนไทย”
ดร.พัชรินรุจา กล่าวเพิ่มเติม “ตามที่ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้รายงานรายละเอียดของโครงการให้รับทราบนั้น ดิฉันขอชื่นชมในความร่วมมือเป็นอย่างดีของทุกภาคส่วนทั้งภายในหน่วยงานกระทรวง อว. หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่สามารถผลักดันให้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ ภายใต้กิจกรรม : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพนี้ ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอชื่นชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ (TCELS) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการที่สามารถดำเนินการส่งเสริมให้นวัตกรรมด้านการแพทย์ของผู้ประกอบการออกสู่สายตาของสาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรม และนำผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพมาแสดงเป็นนิทรรศการในงานนี้”
“เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่าจะสามารถสร้างความก้าวหน้าและความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ ความเชื่อดังกล่าว ยิ่งถูกยืนยันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาหากประเทศใดขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ย่อมมีความเสี่ยงที่จะถูกภัยคุกคามด้านต่างๆ เข้ามากระทบต่อการพัฒนาประเทศ และหากยิ่งขาดการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ ยิ่งทำให้ประเทศมีความเสี่ยงต่อประชาชนโดยรวมมากขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ อีกทั้งจะนำไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต”
“จากการกล่าวรายงานของดร.ชัยรัตน์ ทำให้ทราบว่าผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 20 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนั้น ต่างเป็นผู้มีความรู้ ทักษะ และศักยภาพความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และเมื่อผ่านการอบรมพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งคัดสรรมาอย่างดีแล้ว ยิ่งจะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้การบริหารงานของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
“ดิฉันขอแสดงความยินดีและชื่นชมผู้ได้รับรางวัลจากกิจกรรมโครงการนี้ทั้ง 3 รางวัล รวมถึงชื่นชมในศักยภาพของทุกทีมที่ร่วมเดินทางด้วยกันมากับโครงการ และหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกทีมเกิดพลังแรงกาย แรงใจ ในการช่วยสรรค์สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น ความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนในการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับท่านสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป และขออวยพรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านสามารถพัฒนาธุรกิจให้สำเร็จ เกิดคุณูปการเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป” ดร.พัชรินรุจา กล่าวปิดท้าย
และผลการแข่งขันกิจกรรมดังกล่าว ผู้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นางสาวฐิติพร มุขสมบัติ บริษัท เอ็มพีกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์ Alpha-Thalassemia อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ halassemia รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ สพ.ญ.วรางคณา พันธุ์วาณิช ลู่วิ่งในน้ำ Aquatrek Solution และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นายโสภณ นกนวม กลุ่มเครื่องมือแพทย์ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.