สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลให้แก่ นางสาวธัญวรัตน์ นาคแก้ว และคณะ แห่ง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี จากผลงานการประกวดระดับปริญญาตรี รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 รางวัลระดับดี ให้กับผลงานเรื่อง “Walk for Fun มหัศจรรย์เครื่องช่วยเดิน” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ซึ่งงานดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ครั้งที่ 17 นี้ ได้มีการประกวด “ผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565” เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา ซึ่งมีการมอบรางวัลผลงานจากการประกวด 2 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลการเขียนข้อเสนอผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 และ 2) รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2. ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นิสิต/นักศึกษาเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ ศักยภาพ และกลายเป็นบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป
นางสาวธัญวรัตน์ นาคแก้ว แห่ง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี กล่าวว่า ผลงานนวัตกรรมได้แรงบันดาลใจในการพัฒนามาจากกระแตเวียน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านทำจากไม้ไผ่ โดยจะปักแกนหมุนลงบนดินและมีที่สำหรับมือจับ เพื่อให้เด็กเกาะและฝึกเดินเป็นวงกลมรอบแกนไม้ที่ปักไว้ จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ฝึกเดินด้วยกระแตเวียนจะเดินเป็นวงกลมเล็ก ๆ และในระยะทางที่สั้น ๆ ที่สำคัญคือ ไม่มีระบบความปลอดภัยโดยหากเด็กทิ้งตัวลงนั่งก้นจะกระแทกพื้น ส่วนคางก็จะกระแทกกับด้ามที่เด็กจับ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
ทางทีมผู้พัฒนาจึงนำรูปแบบของกระแตเวียนมาต่อยอดโดยผสมผสานกับรถหัดเดินที่มีขายตามท้องตลาด พัฒนามาเป็น “Walk for Fun มหัศจรรย์เครื่องช่วยเดิน” เพื่อให้เด็กวัยหัดเดินฝึกเดินอย่างถูกวิธี ลงน้ำหนักอย่างเต็มฝ่าเท้า ทำให้พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor) เป็นไปตามวัยอีกทั้งผลงานวัตกรรมนี้มีน้ำหนักเบาสามารถพับเก็บได้ทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย นวัตกรรม “Walk for Fun มหัศจรรย์เครื่องช่วยเดิน”มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1. ตัวรถ ถูกออกแบบมาให้เปลี่ยนขนาดของเบาะนั่งและปรับความสูงได้ 8 ระดับตามขนาดเด็ก มีการเสริมแผ่นเหล็กกลมที่ฐานรถและมีระบบเบรคเมื่อเด็กจะใช้เท้าไสรถไปข้างหน้าเพื่อป้องกันรถพลิกคว่ำ 2. รองเท้าติด force sensor เพื่อตรวจจับการลงน้ำหนักเท้าในการเดิน โดยหากเด็กเดินอย่างถูกต้อง คือมีการลงน้ำหนักอย่างเต็มฝ่าเท้า force sensor จะส่งสัญญาณไปยังกล่องรับสัญญาณและส่งต่อไปยัง Google sheet ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามและประเมินพัฒนาการของลูกได้อย่าง Real time และย้อนหลังจากจำนวนก้าวที่เพิ่มขึ้นใน Google sheet นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับเด็กที่มีความผิดปกติด้านการเดินอื่น ๆ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถติดตามพัฒนาการด้านการเดินได้จาก Google sheet โดยลดความถี่ในการเดินทางเพื่อไปฝึกเดินหรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว ลดต้นทุนในการรักษาในระบบสุขภาพ ลดความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้ง เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลเด็ก และสนับสนุนระบบ Telemedicine อีกด้วย
นับได้ว่าเป็นผลงานนวัตกรรมในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม “Walk For Fun มหัศจรรย์เครื่องช่วยเดิน” เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวให้ดีขึ้น เปรียบเสมือนความห่วงใยจากพ่อแม่ที่มีให้ไม่มีวันสิ้นสุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.