วันที่ 26 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ เรื่อง “โครงการท้าทายไทย...สังคมไทยไร้ความรุนแรง (ปีที่ 2)” เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น รวมถึงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนนำผลงานวิจัยไปขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ณ ห้องประชุมห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การสัมมนายังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต คณะกรรมการโครงการวิจัยท้าทาย และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยประสบกับปัญหาความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การฆ่าตัวตาย การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่น การก่ออาชญากรรมซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้และซึมซับความรุนแรง จะเห็นได้จากใน ปี พ.ศ.2565 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับ เป็นประเทศที่มีความสงบสุขของโลกในลำดับที่ 103 และ เป็นประเทศที่มีความรุนแรงในลำดับที่ 47 จากจำนวน 163 ประเทศ โดยส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรง คิดเป็น ร้อยละ 4 ของ GDP หรือ คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
จากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรง วช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่โครงการท้าท้ายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยมี รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง แห่ง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารจัดการโครงการฯ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งความรุนแรงในรูปแบบที่เปิดเผยต่อสาธารณะที่คนในสังคมประสบพบอยู่เสมอ ๆ ทั้งนี้เนื่องจากพิจารณาว่า ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม นับเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โครงการท้าท้ายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง ขับเคลื่อนการลดความรุนแรงใน 5 มิติ หรือ 5 P ประกอบด้วย 1.นโยบาย (Policy) 2.การป้องกัน (Prevention) 3.การคุ้มครอง (Protection) 4.การดำเนินคดี (Prosecution) และ 5.ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยผลงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ในการลดความรุนแรงในสังคม ได้แก่ 1.แผนที่ความรุนแรงของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย 2.การขับเคลื่อนสู่มาตรฐานสากลด้วยการลดความรุนแรงต่อสตรีโดยสร้างความเคารพต่อความเท่าเทียมกันของสตรี 3.การขับเคลื่อนลดความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการฆ่าตัวตาย ความรุนแรง ในครอบครัว ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาความรุนแรงของเด็ก และเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนอกสถานศึกษา การเปิดพื้นที่เมืองต้นแบบปลอดอาชญากรรม และ 4. การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง โรงเรียนและสถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งทุกโครงการวิจัยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานภาคปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนในการลดความรุนแรงในพื้นที่ ส่งผลให้ความรุนแรง ในพื้นที่ศึกษา ลดความรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 50
วช. คาดว่าแผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรงนี้ จะสามารถลดความรุนแรงในสังคมไทยได้ก่อนปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในการสร้างสังคมสงบสุขโดยขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนาวิชาการฯ ยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคม อาทิ นิทรรศการโครงการฐานข้อมูลความรุนแรง นิทรรศการป้องกันการฆ่าตัวตาย และนิทรรศการป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งผลงานวิจัยเป็นผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ภายใต้โครงการท้ายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง ปีที่ 2 และนอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวคุณเขมสรณ์ หนูขาว เป็นพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ในแคมเปญ RESPECT กับการลดความรุนแรงต่อสตรี อีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.