ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบรางวัลติดดาวผลงานเด่นอาชีวศึกษา จำนวน 15 ผลงาน ในกิจกรรมบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพเพื่อการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566” วช. ได้ร่วมกับ สอศ. จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบการบ่มเพาะให้ความรู้และเทคนิคแนวการคิดในระยะเวลา 3 วัน โดยนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้ารับการอบรม จะนำเอกสารเชิงแนวคิด หรือ Concept Paper มาให้ผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงและเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับรางวัลติดดาวของทีมอาชีวศึกษาที่มีผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 15 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่
- ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม
1) ผลงานเรื่อง “ชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ระบบปิด แบบปรับระดับน้ำ” โดย วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่
2) ผลงานเรื่อง “การพัฒนาผลิคภัณฑ์ทุ่นตกปลาจากส่วนเหลือทิ้งลำต้นมันสำปะหลัง” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่
3) ผลงานเรื่อง “เครื่องกรอเส้นฝ้ายสำหรับถักทอด้วยระบบไฟฟ้า” โดย วิทยาลัยเทคนิคลำพูน
- ด้านการสาธารณสุข สุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
4) ผลงานเรื่อง “เมี่ยงคำอบแห้งเสริมโปรตีนจากถั่วแปจ่อเขียว” โดย วิทยาลัยเทคนิคตาก
5) ผลงานเรื่อง “ทีดา ดิโอเดอเรินท์ ฟุท สเปรย์” โดย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน
6 )ผลงานเรื่อง “สบู่ขัดผิวเส้นใยกัญชง” โดย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน
- ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ
7) ผลงานเรื่อง “คอนโดจิ้งหรีดอัจฉริยะ” โดย วิทยาลัยการอาชีพสอง
8) ผลงานเรื่อง “เครื่องช่วยลอกและติดฟิล์มจอ LCD” โดย วิทยาลัยเทคนิคลำพูน
9) ผลงานเรื่อง “คอนโดจิ้งหรีดอัจฉริยะ” โดย วิทยาลัยการอาชีพสอง
- ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model
10) ผลงานเรื่อง “สปอยเลอร์ดักจับฝุ่น PM 2.5 ด้วยอนุภาคประจุลบ” โดย วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่
11) ผลงานเรื่อง “เตาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจพิษณุโลก
12) ผลงานเรื่อง “เตาแก๊สชีวมวลจากตะเกียบเหลือทิ้ง” โดย วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย
- ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
13) ผลงานเรื่อง “โคมไฟจากมูลช้าง” โดย วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง
14) ผลงานเรื่อง “เครื่องตัดฟลัฟฟี่รักษ์โลก” โดย วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย
15) ผลงานเรื่อง “รถยนต์ไฟฟ้า Kotaka EV สำหรับคนพิการ” จาก วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์
พร้อมนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ที่ร่วมเป็นวิทยากรในการบ่มเพาะบุคลากรสายอาชีวศึกษา ได้ร่วมมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทุกสถาบันการศึกษา ที่ร่วมเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะในครั้งนี้
ทั้งนี้ กิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ในครั้งต่อไปจะไปจัดที่ ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.