GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 22 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อนลดลงเหลือ 882 จุด สาเหตุส่วนหนึ่งที่จุดความร้อนไทยลดลงมาจากหลายพื้นที่ตอนบนเกิดฝนตก เนื่องจากพายุฤดูร้อน ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ครองอันดับหนึ่งอยู่ที่ 5,160 จุด, พม่า 1,480 จุด, เวียดนาม 969 จุด, กัมพูชา 547 จุด และ มาเลเซีย 43 จุด
ข้อมูลจากดาวเทียมระบุอีกว่า จุดความร้อนในประเทศไทยวานนี้พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 272 จุด, ป่าสงวนแห่งชาติ 234 จุด, พื้นที่เกษตรมากที่สุด 219 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 83 จุด, พื้นที่เขต สปก. 68 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 6 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ เพชรบูรณ์ 94 จุด
ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชันเช็คฝุ่น เมื่อเวลา 09.00 น. ภาพรวมทั่วประเทศยังคงเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับสีส้มในหลายพื้นที่รวมเกือบ 50 จังหวัด โดยกระจายกันไปยังพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง ซึ่งเริ่มจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่กรุงเทพมหานคร คุณภาพอากาศภาพรวมอยู่ในระดับสีเหลือง
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ
ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th หรือ ติดตามข้อมูลจาก https://fire.gistda.or.th/dashboard.html และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน "#เช็คฝุ่น"
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.