นักวิจัย NSM ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก มีอยู่ที่ อ.ดอยสะเก็ดและ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่เท่านั้น ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici (Q2) ประเทศฟินเเลนด์ฉบับที่ 61 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เผยสถานะใกล้สูญพันธุ์ เตรียมต่อยอดด้านอนุรักษ์พันธุกรรม พร้อมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เดือน มิ.ย. - ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยของ NSM นำโดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการกองวิชาการพฤกษศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา NSM และ ผศ.ดร.ทยา เจนจิตติกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล น.ส.ธัญชนก สมหนู นักศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.จิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ดร.วัฒนา ตันมิ่ง สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” (K. noctiflora var. thepthepae Noppornch. & Somnoo) พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก อยู่ในวงศ์ขิงข่า สกุลเปราะหอม สกุลย่อยดอกดิน (โพรแทนเธียม) มีสถานะทางอนุกรมวิธานอยู่ภายใต้ชนิด “เปราะใบม่วง” (Kaempferia noctiflora Noppornch. & Jenjitt.) พบเฉพาะที่ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น ผลงานการค้นพบได้ถูกตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici (Q2) ประเทศฟินเเลนด์ ฉบับที่ 61 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567
ผอ.NSM กล่าวต่อว่า “เปราะนพรัตน์” ถูกค้นพบในปี 2558 จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ทราบจนสามารถยืนยันได้ว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก มีลักษณะเด่นคือมีดอกสีขาวแต้มสีม่วง ขนาดประมาณ 6 คูณ 6 เซ็นติเมตร บานตอนเช้า มีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกเฉพาะเดือน พ.ค.ของทุกปี โดยภายใน 1 เดือนจะออกดอกทุกวัน ต้นหนึ่งจะออกดอก 1 – 2 ดอก ขณะที่ใบมีลวดลายสวยงาม ใบอ่อนสามารถนำไปรับประทานได้ ประชาชนกรของเปราะนพรัตน์ จะขึ้นตามป่าชุมชนและป่าชายเขาทั่วไป ปัจจุบันสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการคุกคามของมนุษย์ที่มีการนำพื้นที่ที่มีเปราะนพรัตน์ไปทำการเกษตรหรือนำขยะไปทิ้ง นอกจากนั้นบางส่วนนำเปราะนพรัตน์ไปทำอาหาร เนื่องจากใบอ่อนสามารถรับประทานได้โดยส่วนใหญ่นำไปทำยำหรือผัดใส่หมูสับ รวมทั้งมีการลักลอบขุดนำไปขาย
ผศ.ดร.รวิน กล่าวต่อว่า การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นการขยายขอบเขตองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของดอกดินสกุลเปราะในประเทศไทยและจะนำไปสู่การวางแผนการจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์พันธุกรรมในอนาคต เนื่องจากสถานะใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะนำไปจัดแสดงให้เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการประมาณช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. ณ สวนรุกขชาติ อพวช. ส่วนจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ต.คลองห้า จ.ปทุมธานี ต่อไป
ข้อมูลโดย : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : 02 577 9999
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.