เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาทักษะ 11 ด้าน Soft Power ด้วยการ Upskill-Reskill นำโดย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายวันนี นนทศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผอ.สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ธัชชา/นายกสภาวิทยาลัยชุมชน นางสาวฉัตต์ธิดา บุญโต ผอ.ธัชชา รศ.ดร. ฐาปนีย์ ธรรมเมธา ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยในการประชุมวันนี้ มุ่งเชื่อมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือคนไทย ผ่านนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” (One Family One Soft Power – OFOS) โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกครัวเรือน สามารถฝึกอบรมพัฒนาทักษะ ทั้ง 11 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ของตัวเองให้สูงขึ้น ซึ่ง “นายแพทย์สุรพงษ์” ได้กล่าวในการประชุมว่า นิยามของ Soft Power ได้ถูกตีความหมายไปต่างๆ นานา แต่ที่ต้องการจะสื่อจริงๆ คือ การบริหารเสน่ห์ ที่ไทยเรามีจุดได้เปรียบอยู่แล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เป็นขุมทรัพย์ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือสร้างการยอมรับ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าอยากกินอาหารไทย ดูละครไทย ดูกีฬาไทยดังนั้นต้องมีการจัดระบบใหม่ เพื่อจะสื่อสารออกไปสู่ชาวโลก ที่จะนำไปสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่ยากจนอีกต่อไป และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่ต้องการขับเคลื่อนเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ให้ครบตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดย ต้นน้ำเป็น การสร้างคนทักษะสูง หรือ “นักรบซอฟต์พาวเวอร์” ที่เป็นกองกำลังทหารด้านต่างๆ เช่น เชฟอาหาร แฮนดิคราฟท์ นักมวย นักดนตรี นักร้อง ดีไซเนอร์ ฯลฯ กลางน้ำ เป็น การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข็งแรงทั้ง 11 ด้าน ที่รัฐบาลต้องเข้าไปส่งเสริม โดยที่ทำงานผ่านมา 6 เดือน ดูว่าปัญหาอะไรบ้าง ต้องแก้กฎหมายอะไรบ้าง เพื่อสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมใหม่ให้เอื้อต่อการเติบโต ส่วน ปลายน้ำ จะเป็นนโยบายต่างประเทศที่ดี สร้างการทูตเชิงวัฒนธรรม เพื่อผลักดันนักรบซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ตลาดโลก โดยมี THACCA (Thailand Creative Content Agency) เชื่อมต่อสถานทูตไทยในต่างประเทศ
และประเด็นที่โฟกัสในวันนี้ คือ การสร้างคน ด้วยการอบรมและการฝึกทักษะที่จะต้องทำงานได้จริง ทั้งทาง Onsite และ Online โดยจะแบ่งเป็น ทักษะระดับพื้นฐานซึ่งเป็นหลักสูตรให้พัฒนาตนเองได้ และทักษะระดับสูง ที่อาจจะเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยในการอบรม ทั้งนี้ ตนได้เล็งเห็นศักยภาพและทรัพยากรของกระทรวง อว. ที่เป็นขุมทรัพย์ เป็นแหล่งรวม Content และแพลตฟอร์มเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งในส่วนของ Thai MOOC ธัชชา สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รวมถึงวิทยาลัยชุมชน เพียงแต่ต้องนำมารวมและเชื่อมโยงกันเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้คนไทยให้ได้ ทั้งนี้อยากจะให้เชื่อมโยงกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ที่ได้เริ่มต้นไปแล้วบางส่วน และพัฒนาไปสู่การเทียบโอนหน่วยกิตหรือธนาคารหน่วยกิต ที่ทาง มทร. ทั้ง 9 แห่ง ได้ทำสำเร็จมาแล้ว และอยากให้เชื่ยมไปถึงธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ของ อว. ด้วย
ทั้งนี้มีประเด็นที่อยากให้ทาง กระทรวง อว. ไปคิดต่อ เพราะกลุ่มเป้าหมายเรื่องซอฟเพาเวอร์นั้นกว้างมาก หลักสูตรที่ออกแบบโดยสถาบันอุดมศึกษาต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย อีกทั้งต้องเน้นไปที่การฝึก Skill ที่สามารถทำได้จริง ไม่ใช่ให้ความรู้เท่านั้นแต่ต้องลงมือฝึกปฏิบัติด้วย ซึ่งทางกระทรวง อว. โดย สป.อว. จะรับดำเนินการ โดยเริ่มจากสำรวจเพื่อนำหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาเพิ่มเติมให้ตรงกับความต้องการของ ประชาชนด้าน Soft Power โดยบริหารจัดการให้เป็นระบบสู่ National Credit Bank ประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าจะเริ่มลงมีการทะเบียนอบรมได้ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.