เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 / ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมแสดงความยินดี พร้อมเป็นประธานมอบรางวัลการแข่งขัน “SiT Talks: Science inspired by Teen 2024” รอบชิงชนะเลิศ เวทีเฟ้นหาเยาวชนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาเล่าวิทย์ให้ว้าวใน 3 นาที ผลปรากฏว่า นางสาวไอริณ อินทรทัต จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ในหัวข้อเรื่อง Inside the genius mind of ChatGPT, the technology that understand us ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท ณ ห้อง IT Theater พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า การแข่งขัน “SiT Talks: Science inspired by Teen 2024” เป็นเวทีการแข่งขันที่จัดขึ้น โดย NSM ร่วมกับ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยบูรพา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาเป็นนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้สังคมเกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเกิดความสนใจและเข้าใจถึงความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ในทุกแง่มุม ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งปีนี้เป็นการจัดกิจกรรมขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์อันนำไปสู่การสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคตต่อไป โดยปีนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 400 คน และผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 25 คนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาร่วมนำเสนอ”
“ขอแสดงความยินดีแก่เยาวชนทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ถือว่าเยาวชนทุกคนมีความสามารถและศักยภาพในการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ พอเห็นน้อง ๆ เยาวชนได้ออกมาแสดงความสามารถการสื่อสารวิทยาศาสตร์ต้องขอชื่อชมทุกคน เราเชื่อว่าเยาวชนคือพลังที่สำคัญในการผลักดันสังคม หวังจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ได้เดินต่อในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้สังคมเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อไป พร้อมถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมไทยและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต” ดร.กรรณิการ์ กล่าว
ด้าน นางสาวไอริน อินทรทัต ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ เผยความรู้สึกว่า “รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ๆ ที่สามารถคว้ารางวัล SiT Talks 2024 จากการเล่าเรื่อง ChatGPT ให้ทุกคนเข้าใจในเวลา 3 นาที เราเลือกหัวข้อ "Inside the genius mind of ChatGPT, the technology that understand us" เพราะรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเราสุด ๆ AI กำลังมีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้น และ ChatGPT ก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนเริ่มใช้ แต่ยังไม่เข้าใจว่ามันทำงานยังไง เราอยากแชร์ความรู้เรื่อง AI และ Machine Learning ให้เพื่อนๆ เข้าใจง่าย ๆ โดยไม่ต้องไปสืบค้นข้อมูลเอง ยกตัวอย่างจากชีวิตประจำวันให้เข้าถึงได้ง่าย ขอบคุณ อพวช. ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ ได้ฝึกฝนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำหรับใครที่สนใจวิทยาศาสตร์ ชอบการสื่อสาร อยากให้ลองมาสมัครในปีหน้าค่ะ”
ผลรางวัลการแข่งขัน “SiT Talks: Science inspired by Teen 2024” มีดังนี้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวต้นน้ำ ตรีปัญจศิล จากโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา ในหัวข้อเรื่อง อาวุธลับระงับกลิ่นสะตอ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ได้แก่ นายภูวิช อุฑารสกุล จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในหัวข้อเรื่อง ดีเอ็นเอ : โชคชะตาหรือแม่กำหนด
รางวัลพิเศษ Audience Engagement 2 รางวัลได้แก่ นางสาวอาภากร สุรินต๊ะ จากโรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม ในหัวข้อเรื่อง พุงไหนใช่สำหรับเธอ และ นางสาวสศินันษ์ญา สิงห์คู่ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ในหัวข้อเรื่อง กลืนน้ำลายผิดวิธีเสี่ยงฟันเหยิน!!
รางวัลพิเศษ Charming Presenter 2 รางวัล ได้แก่ นางสาวอันดา เป็นมิตร จากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในหัวข้อเรื่อง คนนิจิวะ วาตาชิวะ สึนามิเดส และ นางสาวศิรินทร์ลดา พงศ์ธนะลีลา
จากโรงเรียนวชิรป่าซาง ในหัวข้อเรื่อง ลองที่ดี คือ ลองแกน
รางวัลพิเศษ Interesting Props 2 รางวัล ได้แก่ นางสาววรลักษณ์ มกรแก้วเกยูร จากโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ในหัวข้อเรื่อง Is my house haunted และ นายวีรากร ระวีกุล จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ในหัวข้อเรื่อง old people smell
ข้อมูลโดย : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : 02 577 9999
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.