กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำคณะนักวิจัย วว. โชว์นวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน สิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 49 “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อส่งเสริม สนับสนุน นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ ตลอดจนเผยแพร่ผลงาน แสดงความสามารถการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาชาวโลก โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากนานาประเทศร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน มีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาครัฐ เอกชน นักลงทุน ร่วมประกวด/จัดแสดงนิทรรศการกว่า 1,000 ผลงาน จากนานาประเทศกว่า 40 ประเทศ สำหรับผลงานของ วว. ที่นำเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย
นวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม นำเสนอ “เทคโนโลยี/นวัตกรรมการจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดย ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. และนางสาวปัทมาพร พ่วงงามพันธุ์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม โดย วว. ขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาปรับใช้ให้เหมาะสมในการจัดการขยะอย่างครบวงจร มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบวัตถุดิบรอบสอง ตลอดจนพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนจากของเหลือทิ้ง เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นการสร้างรายได้ (Waste to Wealth) และใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) โดยใช้เทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงง่าย เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังได้ขยายขอบข่ายพื้นที่บริหารจัดการขยะชุมชนและรูปแบบดำเนินการสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เวชสำอาง “นาโนแฮร์โทนิคจากสารสกัดดอกคำฝอย” โดยใช้เทคโนโลยีไมโครอิมัลชันของสาร Safflomin A ในสารสกัดดอกคำฝอย เพื่อกระตุ้นการงอกของเส้นผมและลดการเกิดผมร่วง โดย บริษัท เฮอร์บอนิก จำกัด ร่วมกับ ดร.สิทธิพงศ์ สรเดช นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ผลิตภัณฑ์อุดมด้วยสารสกัดดอกคำฝอยที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพในการยับยั้งเอนไซม์ 5α reductase ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดผมร่วงและศีรษะล้านได้ใกล้เคียงกับตัวยามาตรฐาน Dutasteride และ Finasteride มีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์รากผมได้ดีเทียบเท่ายาไมน็อคซิดิล โดยเทคโนโลยีไมโครอิมัลชันช่วยเพิ่มการซึมผ่านสาร Safflomin A เข้าสู่เซลล์รากผมได้สูงกว่า 5 เท่า ผลิตภัณฑ์สามารถป้องกันการเกิดผมร่วงและช่วยกระตุ้นการงอกของเซลล์รากผมได้ดีว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใส่สารสกัดถึงร้อยละ 16.5
ผลงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจาก วว. ได้แก่
1) ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการนอนหลับและบรรเทาอาการกรนด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรูไซเร็น โดย บริษัท Kururo Infinite Co.ltd. ร่วมกับ นางสาวอุบล ฤกษ์อ่ำ และดร.ศรัญญา เหล่าวิทยางค์กูร นักวิจัยอาวุโส ศนส. ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบสารสกัดจากผลลำใยที่สกัดด้วยเอทานอล มีประสิทธิภาพยับยั้งอนุมูลอิสระ การทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ทำให้หนูผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีและนานขึ้น (Model Light-dark task) การทดสอบในอาสาสมัครจำนวน 20 คน พบว่าสามารถส่งเสริมให้นอนหลับได้ดี นานขึ้น และลดอาการนอนกรนได้ หลังจากรับประทานทุกวันในเวลา 1 สัปดาห์
2) ผลิตภัณฑ์เจลลิ่งเพื่อลดรอยแตกลายผิวหนังหน้าท้องด้วยสารสกัดเพปไทด์จากแพะ โดย บริษัท Clara Innovation Co., Ltd. and ODEESTYLE CO.,LTD. ร่วมกับ นางสาวอุบล ฤกษ์อ่ำ และดร.ศรัญญา เหล่าวิทยางค์กูร นักวิจัยอาวุโส ศนส. ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของสารสกัดเพปไทด์จากหนังแพะและอุ้งเท้าแพะ ที่เป็นส่วนเหลือทิ้งจากการแปรรูปเนื้อแพะแช่แข็ง มีขนาดของโมเลกุลขนาดเล็ก 2-5 kD และมีกรดอะมิโนชนิด proline, Arginine และ glycine เป็นหลัก มีประสิทธิภาพในการยับยั้งอนุมูลอิสระได้เทียบเท่าวิตามินซีที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส อิลาสเตสและ คอลลาจิเนส มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและยับยั้งสารสื่ออักเสบเมื่อทำการทดสอบในเซลล์ ผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปแบบเจล มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวอุ้มน้ำได้ดี สมานริ้วรอย กระชับเซลล์ผิวหนัง และรอยด่างดำที่ผิวหนังหน้าท้องของสตรีหลังคลอดบุตร
3) เซรั่มที่มีส่วนผสมของสารสกัดเห็ด กักเก็บในระบบนำส่งสารแบบไฟโตโซมเพื่อยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิดปกติ โดย บริษัท สไมล์ คอร์เนอร์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) ร่วมกับ ดร.สมกมล อินทวงค์ นักวิจัยอาวุโส ศนส. โดยใช้นวัตกรรมกักเก็บสารสกัดในอนุภาคขนาดเล็กรูปแบบไฟโตโซม ที่ช่วยให้สารออกฤทธิ์ซึมผ่านเข้าสู่ผิวได้อย่างล้ำลึก ตรงเป้าหมาย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในรูปแบบเซรั่มอุดมด้วยสารออกฤทธิ์ที่สกัดจากเห็ดถั่วฝรั่ง (Coprinus comatus) ประกอบด้วย สารฟินอลิค และเบต้า กลูเคน พร้อมด้วยวิตามินชนิดต่างๆ ที่ช่วยฟื้นฟูบำรุงผิวให้เรียบ เนียน กระชับ ผิวสว่างกระจ่างใส
“...การนำเสนอผลงาน วว. ในเวทีระดับนานาชาติดังกล่าว นับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ผลงานวิจัยและพัฒนา แสดงถึงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์และสร้างโอกาสที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วว. ในการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดระดับสากล วว. ภาคภูมิใจที่ได้นำผลงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วว. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
วว. พร้อมให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ OTOP วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs Startup ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ไขปัญหาการประกอบการด้วยผลงานวิจัย ให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย วทน. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 หรือที่ “วว. JUMP” และ E-mail : tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.