วันที่ 6 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เตรียมความพร้อม ให้แก่ประชาคมวิจัยในการจัดทำข้อเสนอสำหรับการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วช. มุ่งมั่นสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ในสถานการณ์ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านมลพิษที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม จึงมีการกำหนดมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ขึ้น ให้เป็นมาตรการสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2050 วช. ให้ความสำคัญกับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและนักวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรระดับนานาชาติ โดยเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานหรือบริษัท ปรับโครงสร้างพลังงานโดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้งานประโยชน์คาร์บอนและใช้การกักเก็บคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมให้ยกระดับความสามารถ เพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า และปรับเปลี่ยนกลไกการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงการพัฒนาด้วยการนำ AI มาใช้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
หลังจากนั้น เป็นการเสวนาเรื่อง “ทำความเข้าใจให้ตรงกัน...แนวทางวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม” ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม กล่าวถึงการพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม ผศ. ดร.ภานี น้อยยิ่ง กล่าวถึงดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดร.ถาวร รัตติทิวาพาณิชย์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและความยั่งยืน นายกิตติศักดิ์ พรหมเปี่ยม กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมความมั่นคงและการป้องกันประเทศ นางสาวพิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา ผู้ประสานงานแผนงานวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับการตลาด เป็นผู้ดำเนินเสวนา อีกทั้ง นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 ได้กล่าวถึงเสนอแนวทางการรับข้อเสนอโครงการ ด้านอุตสาหกรรมของ วช. และกลไกที่สำคัญในการในการทำงานวิจัยกับภาคเอกชน และนางสาวดารินพร เจียมประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานอุตสาหกรรม อภิปรายซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ในช่วงบ่าย มีการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม กิจกรรม Talk Show "อุตสาหกรรมกับความยั่งยืน Green and Sustainability" โดย นายเพ็ชร ประภากิตติกุล ผู้บริหารโครงการ Sustainism ยั่งยืนนิยม และการเสวนา เรื่อง "Success Case : งานวิจัยสู่... อุตสาหกรรมกับความยั่งยืน" ในด้าน Green & Circular Economy to Sustainability โดย ดร.วรินธร สงคศิริ จาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา จาก สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ด้าน Waste Utilization: By Product to...High value Products โดย ผศ. ดร.นิอร โฉมศรี จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนายชัยพร โสธรนพบุตร จาก บริษัท ผลไม้แปรรูปวรพร จำกัด ด้าน Al for Green & sustainability รศ. ดร.ศิริเดช บุญแสง จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายปฏิภาณ อรุณวัฒนวงศ์ และนายกิตติรัช อุตะมะ จาก บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และด้าน Sustainability process for Industrial โดย รศ. ดร.วุฒิชัย แพงาม จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นายวิบูรณ์ ตะพานวงศ์ จาก บริษัท ฐาปนินทร์ จำกัด
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้นำเสนอการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย นางสาวศยามน ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยได้อย่างทันท่วงที ถัดมาเป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ในการคิด ให้แก่นักวิจัยในอนาคต
ทั้งนี้ NRCT Open House 2024 : การชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 ของ วช. ระหว่างวันที่ 1 – 9 มิถุนายน 2567 ในรูปแบบ Onsite ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 และออนไลน์ผ่าน (Video conference) ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเหลือเวลาการจัดงานอีก 3 วัน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละวัน ได้แก่
- ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร (วันที่ 7 มิถุนายน 2567)
- ด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วันที่ 8 มิถุนายน 2567)
- ด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.