เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อาคาร สวทช. (โยธี) : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวความพร้อมในการร่วมกันจัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 (The Nineteenth Thailand IT Contest Festival 2020: IT Contest Festival 2020)” ในระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2563 ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพฯ
ภายใต้แนวคิด “I’ll find you: ค้นหาสุดยอดผลงาน STEM” โดยภายในการจัดงาน จะมีการประกวดแข่งขันสุดยอดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม สารสนเทศ และนวัตกรรม ของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ รวมกว่า 260 ผลงาน จาก 3 กิจกรรม คือ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 (NSC 2020) จำนวน 136 ผลงาน การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 22 (YSC 2020) จำนวน 64 ผลงาน และโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ตอน “ประลองความคิด ประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อชุมชน หรือ FabLab จำนวน 60 ผลงาน เพื่อสร้างค่านิยม ส่งเสริมการต่อยอด และสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย เป็นงานประกวดแข่งขันการพัฒนา การออกแบบเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับเยาวชนที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นมหกรรมที่รวมสุดยอดผลงานที่พัฒนาจากความรู้ และความสามารถของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้นำความรู้ และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์ผลงาน และนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิดและดำเนินการอย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังได้มีโอกาสนำผลงานมาเผยแพร่สู่สาธารณชน มหกรรมการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นและส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ในปี 2563 สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 (The Nineteenth Thailand IT Contest Festival 2020: IT Contest Festival 2020) ในระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2563 ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “I’ll find you: ค้นหาสุดยอดผลงาน STEM” โดยภายในการจัดงาน จะมีการประกวดแข่งขันสุดยอดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม สารสนเทศ และนวัตกรรม ของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ รวมกว่า 260 ผลงาน จาก 3 กิจกรรม คือ
1. การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 (The Twenty-second National Software Contest: NSC 2020) ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบกับซอฟต์แวร์ยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ อาทิ โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ โปรแกรมเพื่องานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งาน โปรแกรมประมวลผลภาษาไทย Internet of Things โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ เป็นการรวมสุดยอดโปรแกรมของประเทศไทย โดยฝีมือและมันสมองของเยาวชนไทย จำนวน 136 ผลงาน
2. การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 22 (The Twenty-second Young Scientist Competition: YSC 2020) ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมสรรหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมชิงชัยในงาน Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) ณ สหรัฐอเมริกา และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมนานาชาติชั้นนำ พบปะกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ นักวิจัยในอนาคต ในสาขาชีววิทยา เคมี คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฟิสิกส์ พลังงาน และดาราศาสตร์ จำนวน 64 ผลงาน
3. โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ตอน “ประลองความคิด ประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อชุมชน หรือ FabLab เป็นโครงการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร แก่เด็กและเยาวชนไทย เปิดโอกาสให้ครู เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ทางวิศวกรรมด้านต่าง ๆ ในโครงการมีอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการทดลองและสร้างชิ้นงานจากวัสดุ เช่น 3D-Printer, Laser Cutter ฯลฯ และ รูปแบบของกิจกรรมทุกกิจกรรมมีลักษณะบูรณาการความรู้ทางวิศวกรรมหลายด้าน รวมถึง STEM ในภาพกว้าง เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจเรื่อง Bioeconomy และ Digital Economy อาทิ กิจกรรม Programming (Coding) การสร้างหุ่นยนต์ กิจกรรมการสร้างโดรน กิจกรรมพัฒนา Smart Farmers กิจกรรม Digital Fabrication ฯลฯ โดยมีพื้นที่ดำเนินการที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ จึงได้จัดให้มีการประกวดโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ FabLab Thailand Student Design and Engineering project Competition 2020 “ตอน ประลองความคิด ประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อชุมชน” พบกับนักนวัตกรซึ่งจะมาประชันความคิดประดิษฐ์นวัตกรรม ในหัวข้อ สร้างสังคมแห่งอนาคต การเกษตรแบบยั่งยืน และพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน จำนวน 60 ผลงาน
นอกจากนี้ ในงานยังมีการเปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้แก่เยาวชนที่มีความตั้งใจจริงและมีผลงานที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาผลงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาผลงานสู่การนำไปใช้งานได้จริง โดยเน้นการทำงานในรูปแบบใหม่ที่เน้นการสร้างกลไกการทำงานร่วมกับภาคีในลักษณะของเครือข่ายจิตอาสา เพื่อสร้างความยั่งยืนของโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคมไทย
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมผลงานของเยาวชน ในเวที “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19” (The Nineteenth Thailand IT Contest Festival 2020: IT Contest Festival 2020)” หัวข้อ “I’ll find you: ค้นหาสุดยอดผลงาน STEM” ในระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2563 ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจติดตามได้ที่เพจ https://www.facebook.com/events/2379264925737670/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.