วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมคณะ จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในโอกาสเข้ามอบประกาศนียบัตร และเครื่องหมายปีกกิตติมศักดิ์เฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน (Executive HEMS Thai Sky Doctor) ซึ่งทาง สพฉ. เห็นว่าเป็นบุคคลซึ่งสร้างคุณประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินทางจราจร ช่วยผู้ป่วยอาการหนักบนเครื่องบิน ริเริ่มโครงการคนไทย CPR 10 ล้านคน การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้วฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
สำหรับประวัติ นายแพทย์รุ่งเรือง ฯ เข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างเป็นนักศึกษาแพทย์ได้รับรางวัลนักศึกษาแพทย์ดีเด่น และรางวัลนักศึกษาตัวอย่างด้านบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2537 ได้เข้ารับราชการตำรวจที่งานพิสูจน์หลักฐานฯ สถาบันนิติเวชวิทยา กรมตํารวจ ในตำแหน่ง นพ.โท (ยศ ร้อยตำรวจเอก นพ.โท สารวัตร พิสูจน์หลักฐานฯ)
ในปี พ.ศ. 2537 - 2540 ได้ปฏิบัติราชการตำรวจด้วยความอุทิศตน ทุ่มเท คุณหมอได้ทำคดีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ สามารถพิสูจน์หลักฐานทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและได้รับการลงโทษประหารชีวิต เช่น คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 5 ขวบ คดีฆาตกรต่อเนื่องในหลายประเทศ แต่การรวบรวมพยานหลักฐานในประเทศไทยส่งผลให้ศาลอาญาประเทศสิงคโปร์ตัดสินประหารชีวิตฆาตกร ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นในการปฏิบัติราชการ จากสถานทูตแคนาดา จากกรมตํารวจ ประเทศสิงคโปร์ และตำแหน่งพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ศาลอาญา ประเทศสิงคโปร์ ปี พ.ศ 2540 เข้ารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) คุณหมอได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นจากการปฏิบัติราชการ รางวัล “คนดีศรีกรม” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผลงานสำคัญการสอบสวนโรค และผ่าพิสูจน์เก็บหลักฐานศพผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นรายแรกของโลก ข้อมูลการพิสูจน์ส่งผลให้ รัฐบาลในขณะนั้นปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการในการควบคุมไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ จนประสบความสําเร็จ
ได้รับรางวัลพัฒนาระบบราชการและคุณภาพการให้บริการประชาชนระดับชาติ ในเรื่องการพัฒนาระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่ทางห้องปฏิบัติการ จาก สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งผลงานเป็นส่วนสําคัญส่งผลให้เกิดความสําเร็จในการ ควบคุมการะบาดของโรคไข้หวัดนกขณะนั้น (ปี พ.ศ. 2546 ถึง 2552) และพัฒนาระบบเป็นจนเป็นต้นแบบระบบห้องปฏิบัติการในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบัน ได้รับยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
ปี พ.ศ. 2552-2561 ได้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารระดับผู้อํานวยการในหน่วยงาน สําคัญของกรมควบคุมโรค อาทิ เช่น ผู้อํานวยการสํานักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ผู้อำนวยการสํานักโรคติดต่อทั่วไป ผู้อำนวยการกองป้องกันควบคุมโรคด้วยวัคซีน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
ปี พ.ศ. 2562-2566 ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ (1) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (2) หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข (3) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข และ (4) รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบัน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ผลงานโดดเด่นสําคัญ เช่น
- การจัดทําและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ โรคเมอร์ส โรคโควิด 19 ในปัจจุบัน
- การจัดทําและขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์ ทศวรรษกําจัดพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ําดี ส่งผลให้การแก้ไขและลดปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ําดีอย่างเป็นรูปธรรม
- การพัฒนาระบบด่านควบคุมโรคติดต่อ 68 แห่งทั่วประเทศ
- การพัฒนาและขับเคลื่อนในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2556 ถึง 2559 ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการยอมรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การบรรจุวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรต้าไวรัสในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
- เป็นผู้รับผิดชอบ “โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 22 ล้านเข็มเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่งผลให้สามารถควบคุมโรคคอตีบประสพความสำเร็จ ไม่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
- ได้ปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุนโครงการพระราชดําริฯ การควบคุมโรคในถิ่นทุรกันดาร
ปี พ.ศ. 2562 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ระดับ 10) ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข เป็นและปฎิบัติหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบหน่วยงานสำคัญ เช่น สํานักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต IHPP, HITAP
-ดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะการออกมาชี้แจงตอบโต้สถานการณ์ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นโฆษกกระทรวงสาธารณสุขที่ดีสุดท่านหนึ่ง
-รับผิดชอบศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการพัฒนาระบบในการดูแลประชาชน และทำหน้าที่เจรจา ควบคุมสถานการณ์การประท้วง การรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งจากผู้มาร้องทุกข์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
- ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ MIU : MOPH Intelligence Unit กระทรวงสาธารณสุข ในจัดทําข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการ�ต่อผู้บริหารระดับสูง มีผลงานสําคัญในการรับมือสถานการณ์ และควบคุมโรคโควิด 19 เช่น
- การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ พัฒนาต้นแบบหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก CCRT (Covid 19 Comprehensive Response Team) ทั้งการดูแลผู้ป่วยและส่งต่อ การให้วัคซีนโควิดเชิงรุกในพื้นที่เป็นครั้งแรกของประเทศ
- การสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในระดับพื้นที่ต้นแบบ ส่งผลให้เกิด ความสําเร็จในการควบคุมสถานการณ์ เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.