ในวันนี้ (23 สิงหาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดสัมมนาระดับชาติ ระดมความคิดจากหลากหลายหน่วยงาน กว่า 30 หน่วยงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน รวมทั้งหาแนวทางติดตามและประเมินผลแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมบรรลุตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์แบบบูรณาการอย่างปลอดภัยและมีศักยภาพการแข่งขันในระดับนำของกลุ่มประเทศอาเซียน” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานฯ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)”
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการ ปส. เปิดเผยว่า การพัฒนาแผนพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 นี้ จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการสร้างงาน การพัฒนาทักษะ ตลอดจนเสริมความรู้ให้กับบุคลากร
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติงาน และร่วมมือกันในการนำแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านพลังงานนิวเคลียร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในการเผชิญกับความท้าทายในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มยุทธศาสตร์และประเมินผลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 4107, 4109 และ 4110
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.