วันนี้ (27 พ.ย. 2567) ณ ห้องประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดตัวผู้ให้การสนับสนุนโครงการชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว จัดโดย บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพันธมิตรเครือข่ายของ วว. ภายใต้โครงการบริการวิจัยชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ ในพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดปทุมธานี ทดแทนการเผาเพื่อลดฝุ่น PM2.5 โอกาสนี้ ดร.ดวงพร อุนพานิช ผอ.ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผอ.ห้องปฺฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (BioD) วว. และคณะวิจัย ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี และผู้แทนเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ เข้าร่วมงานด้วย
รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า บทบาทภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ วว. คือ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้าไปช่วยส่งเสริม แก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยปัจจุบันปัญหาสำคัญหนึ่งของการทำเกษตรกรรม คือ การกำจัดตอซังและเศษวัสดุทางการเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยวโดยวิธีการเผา ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกเสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นการทําลายอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน รวมถึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างดิน และยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชนโดยรอบ
“...แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ วว. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ BioD I (ไบโอดีวัน) วว. ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลาย ทำให้ตอซังข้าวนิ่มภายในระยะเวลา 5-10 วัน ไถกลบได้ง่าย เพิ่มธาตุอาหารในแปลงนา ส่งเสริมเจริญเติบโตของข้าว และที่สำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ วว. ได้ยื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อ “BioD I วว.” ที่มีระบบให้อากาศและระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ “BioD I วว.” ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดต้นทุนในการจัดการตอซังข้าว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน...” ดร.จิตรา ชัยวิมล กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของ วว. ภายใต้ความร่วมมือฯ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี โดยได้ศึกษาและทดลองนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี จากนั้นจึงได้ต่อยอดความสำเร็จและนำไปสู่การขยายผลเป็นโครงการบริการวิจัยให้แก่ บริษัท อาปิโกฯ ในการจัดสร้างชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวจำนวน 15 ชุด เพื่อติดตั้งในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดปทุมธานี สำหรับผลิตหัวเชื้อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปขยายต่อ เพื่อใช้จัดการตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวทดแทนการเผา ซึ่งคาดว่าเมื่อการดำเนินงานโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับพื้นที่การทำนาได้ไม่ต่ำกว่า 168,000 ไร่ต่อปี รวมถึงมีการจัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติวิธีการขยายหัวเชื้อ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้เองในพื้นที่ คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับการอบรมไม่น้อยกว่า 840 คน โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบความสำเร็จในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการเกษตร สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาตอซังข้าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ วว. ติดต่อได้ที่ Call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.