(วันที่ 22 มกราคม 2568) ณ อาคาร บร.5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี : รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ครบรอบ 12 ปี โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย และเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยมี นางดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมในพิธี โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ให้กับนักเรียนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เพื่อเสริมความรู้นอกห้องเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมีความรักและสนใจวิทยาศาสตร์ โดยมีการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนุกให้กับนักเรียนจากผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์มหาวิทยาลัย และมีพี่เลี้ยงนักศึกษาคอยให้คำแนะนำระหว่างทำกิจกรรม ซึ่งนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้เป็นนักเรียนระดับชั้น ป.4-6 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
“การจัดงานในวันนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก เนื่องจากในปี 2568 เป็นปีครบรอบ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงร่วมกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติให้พระองค์ท่าน และยังเป็นการฉลองครบรอบ 12 ปี โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย สำหรับกิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่สนุกนอกห้องเรียน ซึ่งหวังว่าเด็ก ๆ จะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดีกลับไป” รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าว
นางดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย กล่าวว่า
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2555 เกิดจากความร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานในโครงการและมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวม 22 แห่งทั่วประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 12 ปีมีการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย จนถึงปัจจุบันมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทั่วประเทศประมาณ 58,000 คน นอกจากจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนแล้ว ยังมีการจัดอบรมครูและวิทยากรเครือข่ายให้ได้รับทักษะความรู้เพื่อไปจัดกิจกรรมสนุก ๆ ให้กับนักเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากิจกรรมการทดลองและสื่อการเรียนรู้เสริมนอกห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนได้มีการทดลองสนุก ๆ และได้รับความรู้ควบคู่ไปด้วย
“สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนุกให้กับนักเรียนระดับชั้น ป.4-6 จำนวน 570 คน จากโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี โดยมีกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์จำนวน 30 ฐาน เช่น โค้ดดิ้งแอดเวนเจอร์ , Robot Rescue , เล่นสนุกกับแสงสีม่วง , แก๊สมหัศจรรย์ , ความลับของวัสดุ , หุ่นยนต์สัตว์เคลื่อนที่ , พิสูจน์ความสะอาด...ภารกิจล้างมือพิชิตเชื้อโรค และสิ่งประดิษฐ์รถยนต์พลังหนังยาง ซึ่งหวังว่านักเรียน ครู และทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการจะได้รับความรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมต่อไป” ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย กล่าว
ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย เป็นพี่เลี้ยง และมีนักศึกษา ระดับปริญญาตรี โท เอก คอยดูแลและให้คำแนะนำระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง เน้นการทำงานในลักษณะเครือข่าย โดยบทบาทของ สวทช. ทำหน้าที่เป็นคณะเลขานุการโครงการ ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งในการพัฒนากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชน ดำเนินการพัฒนาและจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้เด็กและเยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยเครือข่าย 22 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ และเกิดทัศนคติที่ดี ในการทำการทดลองที่สนุก เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยให้ดียิ่งขึ้น
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้ทำกิจกรรมที่สนุก เป็นการลงมือทำด้วยตนเองผ่านกิจกรรม Hands-on เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้เยาวชนไทยก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไปในอนาคต” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.