กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลงานวิจัยพัฒนาด้าน Green Technology ร่วมโชว์นิทรรศการในงาน FTI EXPO 2025 ซึ่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ HALL 5 - 8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด 4GO ทั้งดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โอกาสนี้ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ วว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นักวิจัย บุคลากร เข้าร่วมในพิธีด้วย ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ กล่าวว่า ในปีนี้ วว. ร่วมจัดแสดงผลงาน ณ บูธ B10 HALL 6 โซนพื้นที่กระทรวง อว. ซึ่งจัดภายใต้แนวคิด อว. For Inno Green (The Empowering STI for Sustainable Future : เสริมพลังวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่ออนาคตอย่างยั่งยืน) มุ่งแสดงภารกิจ บทบาท และกลไกของ อว. สนับสนุนภาคธุรกิจ ในการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความพร้อมสู่เชิงพาณิชย์ และผลจากการนำนวัตกรรมไปพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดย วว. นำผลงานวิจัยพัฒนาเด่นด้าน Green Technology ร่วมจัดนิทรรศการ เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ดังนี้
1) นวัตกรรมเครื่องคัดแยกขวดพลาสติกและกระป๋อง ผลงานโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ มีประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะรีไซเคิลแบบออนไลน์ได้ 4-5 ประเภท สามารถประยุกต์ใช้กับระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามความต้องการลูกค้า คัดแยกบรรจุภัณฑ์โดยไม่ต้องใช้บาร์โค้ด รองรับขวดขนาด 500-600 มิลลิลิตรได้ประมาณ 50-60 ขวด/ประเภท รวมทั้งประเมินข้อมูลการลดการทิ้งขยะ/การนำกลับปริมาณวัสดุรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์และช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
2) การเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อใช้ประโยชน์จาก CO2 ผลงานโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย ในสังกัด ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในบ่อและระบบปิด ที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น แสง อุณหภูมิ และแหล่งสารอาหาร ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสารชีวโมเลกุลที่ได้จากกระบวนการ ทั้งนี้เนื่องจากสาหร่ายเจริญเติบโตได้เร็วและใช้ระยะเวลาเพาะเลี้ยง 1-2 เดือน รวมทั้งสามารถเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเล น้ำจืด และบ่อเลี้ยง จึงลดปัญหาการแย่งพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชน้ำมัน อีกทั้งสามารถดูดซับ CO2 จากชั้นบรรยากาศได้ จึงช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ด้วย
3) BioD I วว. จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าว ผลงานโดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ในสังกัด ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าวโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ตอซังข้าวนิ่ม ไถกลบได้ง่าย และไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ มีการนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี และจะขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
นอกจากนั้นภายในบูธของกระทรวง อว. ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมจากหน่วยงานภายใต้สังกัดและเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกระทรวง อว. อาทิ 1.หุ่นยนต์ล้างแผงโซล่าเซลล์ จากบริษัท ไอ นาว จํากัด 2.เครื่องทำความสะอาดห้องเผาไหม้ภายในรถยนต์ด้วยเครื่องผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ และระบบการบริการ “ไฮโดรคลีนนิ่ง” ที่สามารถช่วยลด PM 2.5 จากท่อไอเสียรถยนต์ จากบริษัท อินเตอร์โกร จำกัด 3.ระบบระบายความร้อนมอเตอร์ไฟฟ้า สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ด้วยโลหะพรุน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 4.หุ่นยนต์กู้ภัยแชมป์โลก 10 สมัย Robocop 2024 ณ เมืองไฮโฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และผลงานวิจัยและนวัตกรรมอื่นๆ ที่น่าใจอีกมากมาย ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมฯ คาดการณ์จะมีผู้เข้าร่วมงานจากไทยและต่างประเทศ จำนวนกว่า 50,000 ถึง 70,000 ราย และจะสร้างโอกาสทางการค้ากว่า 1,000 ล้านบาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยพัฒนาและบริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. ติดต่อได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.