กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการจัดการวิกฤต รวมทั้งควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นในกิจกรรมการตรวจประเมินและรับรองระบบริหารจัดการตามมาตรฐานต่างๆ ได้แก่ มาตรฐาน ISO 9001, ISO 14001, OHSAS 18001, ISO 45001, GMP, HACCP, ISO 22000, มกษ., GMP กฎหมาย การรับรองผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ เกษตร GAP เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ระบบขนส่งทางราง มาตรฐานการท่องเที่ยว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กร คือ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดรุนแรงในวงกว้างขึ้นและยืดเยื้อยาวนาน เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ให้สามารถปฏิบัติงาน เพื่อป้องกัน ชะลอ และบรรเทาผลจากการระบาด วว. โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการจัดการวิกฤตในครั้งนี้ รวมทั้งควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจเกิดขึ้นในกิจกรรมการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานต่างๆ ดังนี้ จะดำเนินการตรวจประเมินเอกสารและหลักฐานเป็นหลัก โดยจะเลื่อนกิจกรรมการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ (On-site Assessment) ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และจะนัดหมายกำหนดวันเข้าตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการในแต่ละแห่งล่วงหน้า ทั้งนี้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันนัดหมายเดิมที่กำหนด กรณีที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ขอรับบริการต้องการใช้ใบรับรอง ไม่ต้องการการเลื่อนตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ สรร. จะใช้วิธี Video conference หรือใช้ Application อื่นๆ แทนการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ ทั้งนี้ วว.ขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการให้กับผู้ได้รับการรับรองจาก สรร. ซึ่งใบรับรองยังไม่หมดอายุ และยื่นคำร้องขอต่ออายุการรับรองกับ สรร. ก่อนใบรับรองหมดอายุเท่านั้น โดยมีรายละเอียดในแต่ละกรณี ดังนี้
การตรวจประเมินเพื่อการรับรอง (Initial Assessment) ผู้ขอรับบริการรายใหม่ เจ้าหน้าที่การตลาดของ สรร. ต้องแจ้งให้ผู้ขอรับบริการรับทราบมาตรการดังกล่าวข้างต้น กรณีที่ผู้ขอรับบริการได้รับการตรวจประเมิน ขั้นตอนที่ 1 (Stage 1) และยังไม่ได้รับการเข้า ตรวจประเมินขั้นตอนที่ 2 ผู้ขอรับบริการสามารถขอนัดวันตรวจประเมินดังกล่าว ไม่เกิน 6 เดือนนับจากขั้นตอนที่ 1 ทั้งนี้ หากครบกำหนด 6 เดือนดังกล่าวหลังจากวันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป สามารถขยายระยะเวลาการเข้าตรวจประเมินขั้นตอนที่ 2 ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน โดย สรร. ขอสงวนสิทธิ์ ในการพิจารณาหากพบว่าผู้ขอรับบริการมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ อาจปรับเป็นการตรวจประเมินในขั้นตอนที่ 1 ใหม่ โดยผู้ขอรับบริการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินดังกล่าว ส่วนการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์และการบริการ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาดำเนินการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ลงนามรับคำขอบริการ และอาจพิจารณาขยายการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเพิ่มเติมเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน นับจากวันที่ครบกำหนด 6 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง
การตรวจติดตามผลครั้งที่ 1 (First Surveillance Assessment) ในกรณีการตรวจประเมินระบบคุณภาพ
กรณีการตรวจติดตามผล กำหนดไว้ปีละครั้ง การนัดวันเข้าตรวจติดตามผลครั้งที่ 1 ปกติจะนับจากวันที่คณะกรรมการทบทวนการรับรองตัดสินให้การรับรอง ไม่เกิน 12 เดือน กรณีที่นัดหมายวันเรียบร้อยแล้วหรือตามวันที่ครบกำหนด นับจากวันที่ 25 มีนาคม 2563 ไม่เกิน 6 เดือน ผู้ได้รับการรับรองสามารถขอเลื่อนวันตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการได้ แต่ต้องส่งเอกสารและบันทึกต่างๆ ให้กับผู้ตรวจประเมินภายในวันที่นัดหมายเดิมหรือตามวันที่ครบกำหนด ผู้ตรวจประเมินจะทำการตรวจประเมินเอกสารหลักฐานและสอบถามผ่านทาง Electronic mail เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ได้รับการรับรองสามารถรักษาระบบได้อย่างต่อเนื่อง และนัดหมายวันเข้าตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่นัดหมายเดิม หากได้รับการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเรียบร้อย ผู้ตรวจประเมินจะเสนอให้คงสถานะการรับรองต่อไป และจะนัดหมายเข้าตรวจติดตามผลครั้งที่ 2 ตามแผนเดิม
กรณีที่การตรวจติดตามผล กำหนดไว้ตรวจทุก 9 เดือน การนัดวันเข้าตรวจติดตามผลครั้งที่ 1 กรณีที่นัดหมายวันเรียบร้อยแล้วหรือตามวันที่ครบกำหนด นับจากวันที่ 25 มีนาคม 2563 ไม่เกิน 6 เดือน ผู้ได้รับการรับรองสามารถขอเลื่อนวันตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการได้ แต่ต้องส่งเอกสารและบันทึกต่างๆ ให้กับผู้ตรวจประเมินภายในวันที่นัดหมายเดิมหรือตามวันที่ครบกำหนด ผู้ตรวจประเมินจะทำการตรวจประเมินเอกสารหลักฐานและสอบถามผ่านทาง Electronic mail เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ได้รับการรับรองสามารถรักษาระบบได้อย่างต่อเนื่อง และนัดหมายวันเข้าตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่นัดหมายเดิม หากได้รับการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเรียบร้อย ผู้ตรวจประเมินจะเสนอให้คงสถานะการรับรองต่อไป และจะนัดหมายเข้าตรวจติดตามผลครั้งที่ 2 ตามแผนเดิม ส่วนการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์และบริการ กรณีที่ใบรับรองของผู้ได้รับการรับรองครบกำหนดในการตรวจประเมินเพื่อติดตามผลการรับรองครั้งที่ 1 ในช่วงการแพร่ระบาดช่วงนี้จะขยายการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเพิ่มเติม เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน นับจากวันที่ครบกำหนด 6 เดือนก่อนหน้านี้ แต่เกิน 2 ครั้ง จะต้องมีการทวนสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในวันที่ครบกำหนดการตรวจประเมินหรือเร็วกว่าโดยผ่านกระบวนการที่กำหนดขึ้น เช่น การ VDO Call หรือการใช้โทรศัพท์พูดคุย เป็นต้น และรอบการรับรองยังคงเดิม
การตรวจติดตามผลครั้งที่ 2 หรือ 3 (Second or Third Surveillance Assessment) ในส่วนของการตรวจประเมินระบบคุณภาพ กรณีนัดหมายวันเรียบร้อยแล้วหรือตามวันที่ครบกำหนด นับจากวันที่ 25 มีนาคม 2563 ไม่เกิน 6 เดือน ผู้ได้รับการรับรองสามารถขอเลื่อนวันตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการได้ แต่ต้องส่งเอกสารและบันทึกต่างๆ ให้กับผู้ตรวจประเมินภายในวันที่นัดหมายเดิมหรือตามวันที่ครบกำหนด ผู้ตรวจประเมินจะทำการตรวจประเมินเอกสารหลักฐานและสอบถามผ่านทาง Electronic mail เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ได้รับการรับรองสามารถรักษาระบบได้อย่างต่อเนื่อง และนัดหมายวันเข้าตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่นัดหมายเดิม หากได้รับการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเรียบร้อย ผู้ตรวจประเมินจะเสนอให้คงสถานะการรับรองต่อไป และจะนัดหมายเข้าตรวจติดตามผลครั้งต่อไป (ถ้ามี) ตามแผนเดิม ส่วนการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์และบริการ กรณีที่ใบรับรองของผู้ได้รับการรับรองครบกำหนดในการตรวจประเมินเพื่อติดตามผลการรับรอง ในช่วงการแพร่ระบาดช่วงนี้ จะขยายการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการออกไปไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ครบกำหนด ถ้าหากสถานการณ์ไม่กลับสู่ภาวะปกติภายใน 6 เดือน นับจากวันที่กำหนด จะพิจารณาขยายการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเพิ่มเติม เป็นระยะไม่เกิน 1 เดือน นับจากวันที่ครบกำหนด 6 เดือนก่อนหน้านี้ แต่เกิน 2 ครั้ง จะต้องมีการทวนสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในวันที่ครบกำหนดการตรวจประเมินหรือเร็วกว่าโดย ผ่านกระบวนการที่กำหนดขึ้น เช่น การ VDO Call หรือการใช้โทรศัพท์พูดคุย เป็นต้น และรอบการรับรองจะคงเดิม
การตรวจประเมินใหม่ (Recertification Assessment) ในส่วนการตรวจประเมินระบบคุณภาพ กรณีนัดหมายวันเรียบร้อยแล้วหรือตามวันที่ครบกำหนดยื่นขอรับต่ออายุการรับรอง (ก่อน 120 วันของวันที่หมดอายุการรับรอง) นับจากวันที่ 25 มีนาคม 2563 ไม่เกิน 6 เดือน ผู้ได้รับการรับรองสามารถขอเลื่อนวันตรวจประเมินใหม่ ณ สถานประกอบการได้ แต่ต้องส่งเอกสารและบันทึกต่างๆ ให้กับผู้ตรวจประเมินภายในวันที่นัดหมายเดิมหรือตามวันที่ครบกำหนด ผู้ตรวจประเมินจะทำการตรวจประเมินเอกสารหลักฐานและสอบถามผ่านทาง Electronic mail เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ได้รับการรับรองสามารถรักษาระบบได้อย่างต่อเนื่อง และนัดหมายวันเข้าตรวจติดตาม ณ สถานประกอบการใหม่ต่อไป ทั้งนี้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันที่นัดหมายเดิม หากได้รับการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการเรียบร้อย ผู้ตรวจประเมินจะเสนอให้การรับรองต่อไป โดยใบรับรองใหม่จะมีวันหมดอายุ นับจากวันหมดอายุในรอบเดิม ส่วนการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์และบริการ ในกรณีที่ใบรับรองของผู้ได้รับการรับรองหมดอายุในช่วงการแพร่ระบาดของโรค จะขยายการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการออกไปไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่การรับรองหมดอายุในใบรับรอง แต่ทั้งนี้ต้องดำเนินการยื่นคำขอเพื่อต่ออายุการรับรองก่อน 120 วัน นับจากวันรับรองหมดอายุ ถ้าหากสถานการณ์ไม่กลับสู่ภาวะปกติภายใน 6 เดือน นับจากวันที่การรับรองหมดอายุในใบรับรอง จะพิจารณาขยายการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนนับจากวันที่ครบกำหนด 6 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง จะต้องมีการทวนสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในวันที่ครบกำหนดการตรวจประเมินหรือเร็วกว่าโดยผ่านกระบวนการที่กำหนดขึ้น เช่น การ VDO Call หรือการใช้โทรศัพท์พูดคุย เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้การรับรองจะนับจากวันที่ใบรับรองเดิมหมดอายุ
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า ในภาพรวมของการดำเนินงานองค์กร วว. ได้กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2563 หรือจนกว่ามีการประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้ (1) สนับสนุนมาตรการปฏิบัติงาน ณ บ้านพัก (Work From Home : WFH) บางส่วน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน 2563 (2) งานด้านการเงิน การคลัง การจัดซื้อ จัดจ้าง เปิดบริการให้แก่ลูกค้าตามปกติ (3) งานบริการเพื่อภาคอุตสาหกรรม งานบริการงานวิจัย เปิดบริการให้แก่ลูกค้าตามปกติ และ (4) ช่องทางการติดต่อสื่อสารกับ วว. มี 2 ช่องทางคือ อีเมล ibs@tistr.or.th หรือช่องทางสื่อสารประจำตัวกับบุคลากรที่ลูกค้าเคยประสานงานไว้ และโทรศัพท์ ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 ในวันและเวลาราชการ (จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.