30 เมษายน 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “Tham - UV Clean” ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย ด้วยรังสียูวีซี พร้อมประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสได้ 100% ใน 5 นาที และใช้ซ้ำได้ขึ้นอยู่กับสภาพและประเภทของหน้ากากอนามัย บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ได้ทันทีหลังอบเสร็จ โดยตู้อบดังกล่าว ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวม ไขสันหลังอักเสบ และการติดเชื้อที่ผิวหนังบนหน้ากากอนามัย พร้อมคงคุณภาพการป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่หน้ากากอนามัยได้ไม่ต่ำกว่า 90% หลังการฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการส่งมอบ “Tham - UV Clean” ล็อตแรก แก่โรงพยาบาลทั่วไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอย่างต่อเนื่องและด้วยข้อจำกัดด้าน “หน้ากากอนามัย” ที่มีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น เพื่อให้หน้ากากอนามัยที่มีจำนวนจำกัด สามารถใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. จึงพัฒนา “Tham - UV Clean” ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย ด้วยรังสียูวีซี (UV-C) ที่มาพร้อมประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสได้ 100% ใน 5 นาที และใช้ซ้ำได้ 5-10 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพและประเภทของหน้ากากอนามัย โดยที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำหน้ากากกลับมาใช้ได้ทันทีหลังอบเสร็จ
สำหรับการอบหน้ากากอนามัย ด้วยตู้อบดังกล่าว จะเป็นการใช้คลื่น “รังสียูวีซี” (UV-C) ที่เป็นคลื่นความร้อน ในการอบหน้ากากจำนวน 3 ชิ้นต่อ 1 รอบการอบ โดยเว้นระยะห่างต่อชิ้นที่ 2-3 เซนติเมตร พร้อมตั้งเวลาการอบไว้ที่ 5 นาที เพื่อให้คลื่นรังสียูวีซี แผ่กระจายและฆ่าเชื้อไวรัสบริเวณหน้ากากอนามัย ทั้งด้านในและด้านนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อครบเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ตู้อบฆ่าเชื้อ “Tham - UV Clean” จะแจ้งเตือนผู้ใช้งานให้สามารถนำหน้ากากอนามัยไปใช้ต่อได้ ซึ่งผลลัพธ์หลังการทดสอบประสิทธิภาพจากห้องปฏิบัติการ Thammasat University Molecular Innovation Research (TUMIR) คณะสหเวชศาสตร์ มธ. พบว่า ตู้อบดังกล่าว สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ไขสันหลังอักเสบ และการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่อยู่บนหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งคงประสิทธิภาพของเส้นใย และคุณสมบัติสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสที่จะผ่านหน้ากากอนามัย ไม่ต่ำกว่า 90% หลังการฆ่าเชื้อ
รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล กล่าวต่อว่า “Tham - UV Clean” ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย ด้วยรังสียูวีซี เป็นผลงานการพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรดา สโมสรสุข คณะสหเวชศาสตร์ มธ. อย่างไรก็ดี คณะฯ เตรียมผลิตตู้อบดังกล่าว จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ชุด เพื่อมอบแก่โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรค COVID-19 และขาดแคลนหน้ากาก N95 เป็นลำดับต่อไป อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นต้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้แทน ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา อว. ผู้แทนสำนักปลัด อว. ได้ดำเนินการส่งมอบ “Tham - UV Clean” ล็อตแรกจำนวน 100 เครื่อง แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการสูงทั่วประเทศ ผ่านระบบการขนส่งที่ได้คุณภาพและได้มาตรฐาน “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท)” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. (TSE) โทรศัพท์ 094-664-7146 หรือ ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th
ข้อมูลข่าวโดย : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
ข่าวโดย : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
ภาพโดย : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วิดีโอโดย : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.