ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขยายผลงานวิจัยการใช้แผ่นยางธรรมชาติปูรองบ่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำให้กับศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บก.ตชด. ภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยให้ศูนย์ฝึกอาชีพฯ มีน้ำสะอาดและปลอดภัยที่พอเพียงต่อการใช้งานในกิจการต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ส่งเสริมการเพาะขยายพันธุ์พืช พันธุ์ปลาและกบ โดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้เป็นทุนหมุนเวียนให้กับศูนย์ฝึกอาชีพฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.ต.นพพล ชาติวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 เปิดเผยว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 บ้านหนองผึ้ง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคเพื่อใช้ทางการเกษตร เนื่องจากภายในศูนย์ฝึกอาชีพฯ แม้จะมีอ่างหนองปันเจียง ซึ่งเป็นบ่อขุดสำหรับกักเก็บน้ำสามารถเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่เนื่องจากสภาพดินที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้อ่างเก็บน้ำเคยแห้งขอดมาแล้วเมื่อปี 2558-2559 จึงมีความต้องการวัสดุที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการปูบ่อเพื่อเก็บน้ำสำรองที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น เพื่อทำให้ศูนย์ฝึกอาชีพฯ มีน้ำใช้ได้เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดทั้งปี
สำหรับศูนย์ฝึกอาชีพฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วไม่ได้เรียนต่อ โดยจัดให้มีการฝึกอาชีพที่จะสามารถนำไปใช้ในท้องถิ่นได้ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกกาแฟและพืชสมุนไพรเสริมต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น และยังเป็นศูนย์อบรมด้านการเกษตรแบบผสมผสานให้กับครู ข้าราชการตำรวจ ประชาชน ผู้ปกครองและศิษย์เก่าโรงเรียน ตชด. มากกว่า 300 คนต่อปี รวมถึงเป็นสถานที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ต่างๆ สนับสนุนให้แก่โรงเรียน ตชด. ในพื้นที่ต่างๆ
ด้าน ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ทั้งนี้เอ็มเทค สวทช. โดยคุณกรรณิกา หัตถะปะนิตย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยกระบวนการแปรรูปยางขั้นสูง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ได้พัฒนาแผ่นยางธรรมชาติ สำหรับใช้ในการปูรองบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำอุปโภคหรือเพื่อใช้ในการเกษตร นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย นับเป็นการสร้างทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราดิบของไทย โดยมีต้นทุนในการผลิต ขนส่ง และติดตั้ง (รวมค่าที่พักและสวัสดิการคนงานไว้พร้อมแล้ว) เพียงตารางเมตรละประมาณ 500 บาท (ต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 60 บาท/กก. คิดที่ราคายางแท่ง STR 5L 52 บาท/กิโลกริม) เหมาะสำหรับการปูรองบ่อดินที่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำต่ำ โดยแผ่นยางดังกล่าวมีสมบัติผ่านตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4513 (พ.ศ. 2556) มาตรฐาน มอก. 2583-2556
“แผ่นยางสำหรับปูบ่อน้ำ” โครงการในครั้งนี้ เอ็มเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. ในการขยายผลงานวิจัยการใช้แผ่นยางธรรมชาติรองบ่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ให้กับศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 ซึ่งการปูบ่อเก็บน้ำสำรองขนาดกว้างประมาณ 26 เมตร ยาว 46 เมตร ลึก 3 เมตร คิดเป็นพื้นที่แผ่นยางประมาณ 1,900 ตารางเมตร จะช่วยให้ศูนย์ฝึกอาชีพฯ มีน้ำที่สะอาดและมีความปลอดภัยไว้ใช้ในหน้าแล้งได้มากขึ้นอีกประมาณ 4,000 ลบ.ม./ปี สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพาะขยายพันธุ์พืช พันธุ์ปลาและกบ ได้โดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้เป็นทุนหมุนเวียนให้กับศูนย์ฝึกอาชีพฯ ต่อไป อย่างไรก็ดีทีมวิจัยยังเตรียมเก็บข้อมูลการใช้งานแผ่นยางปูรองบ่อในระยะยาวเพื่อประเมินประสิทธิภาพและขยายผลให้กับศูนย์ฝึกอาชีพฯ ของ ตชด. ภาคอื่นๆ ใช้ต่อไป” ผู้อำนวยการเอ็มเทค ระบุ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.