ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และนักวิจัยพี่เลี้ยง กว่า 50 คน เข้าคอร์สความรู้เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติสู่เชิงพาณิชย์ ก่อนจะคัดเหลือ 3 คนร่วมงาน COSMETIC-360 ฝรั่งเศส เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และโครงการบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (IM) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จัดอบรมวิชาการ Master Class EP II ในเรื่อง Global Gateway for Cosmetic Industry ภายใต้โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2563 ระยะที่ 1 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และนักวิจัยพี่เลี้ยง กว่า 50 คน เพื่อให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติสู่เชิงพาณิชย์ ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการ 3 ราย ร่วมงาน COSMETIC-360 ครั้งถัดไปที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์ด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไทย
นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ (CIB) เป็นความร่วมมือของพันธมิตรหลายฝ่าย ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และโครงการบริหารจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ (IM) รวมถึงในปี 2563 มีการขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะอาศัยจุดแข็งจากหน่วยงานพันธมิตรในการร่วมกันดำเนินการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ CIB2020 โดยจะคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสารสกัด หรือสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยเน้นสารที่มีคุณสมบัติด้านการชะลอวัย (Anti-aging) และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการมีผลทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ ก่อนผลักดันเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ COSMETIC 360 ที่จัดขึ้นโดยเครือข่าย Cosmetic Valley ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มเทคโนโลยี นวัตกรรม และตลาดอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เกิดการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบเครือข่ายนวัตกรรมเครื่องสำอาง แสวงหาตลาดใหม่ ๆ และนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและกำหนดทิศทางพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทยเกิดการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนกับคู่ค้าจากฝรั่งเศส หรือต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางโลกได้อย่างมีประสิทธิผล อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและเอกชนไทยต่อไป ทั้งนี้ การสนับสนุนที่ผ่านมา พบว่า ประสบความสำเร็จในการช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ SME ไทย มากกว่า 10 กิจการ เกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชนนานาชาติ และเกิดการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย Super Manager โปรแกรมเวชสำอาง สวทช. กล่าวเสริมว่า โครงการ CIB2020 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. TCLES และวิทยากรจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการทำงานจับคู่ไปด้วยกัน 8 คู่ ดำเนินการวิจัย มีผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลการทดลองแล้ว ได้ชิ้นงานผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปใช้ในการหารือกับคู่ค้าต่อไป และด้วยสถานการณ์ COVID การร่วมงาน COSMETIC 360 ในปีนี้ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น virtual แทน โดยจะเน้นการให้ความรู้เรื่องเทรนด์เครื่องสำอางต่าง ๆ และสำหรับกิจกรรมการอบรมวิชาการในครั้งนี้ เป็น Master Class EP II ที่ให้ความรู้ในเรื่องพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง (พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558) พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร (พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562)
การประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง การจัดเตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง การระคายเคือง และการทดสอบการแพ้ในอาสาสมัคร การจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการขึ้นสารใหม่ที่ใช้ทางเครื่องสำอางผ่านระบบ "Personal Care Products Council" ตลอดจนกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดเตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์และประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการร่วมกัน ภายหลังจากนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะก้าวเข้าสู่งาน COSMECTIC 2564 ทั้งการสนับสนุนพาออกงาน แสดงผลงาน นิทรรศการ show case ตามงานต่าง ๆ รวมถึงจะมี Master Class EP III ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเสนอผลงานในรูปแบบ Pitching เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการ 3 รายที่โดดเด่นเข้าร่วมงาน COSMETIC 360 ปี 2021
ด้าน ผศ.ดร.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย หลายบริษัทเริ่มพัฒนาไปมาก โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการทำตัวสารสกัดที่ใช้สมุนไพรค่อนข้างมาก และเริ่มมีการทำวิจัยที่ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งในสมัยก่อนจะเป็นการนำสมุนไพรมาสกัดเพียงอย่างเดียวและควบคุมคุณภาพ แต่ปัจจุบันมีหน่วยงานของภาครัฐหลายที่ให้การสนับสนุนและผู้ประกอบการเองให้ความสนใจในการทำวิจัยมากขึ้น มีการศึกษาฤทธิ์ของตัวสารสกัด เช่น นาโนเทค สวทช. มีการศึกษาฤทธิ์ในหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น whitening, Anti-aging ต่าง ๆ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเองได้เริ่มทำวิจัยด้านเครื่องสำอางค่อนข้างมาก
ฉะนั้น อุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะเรื่องของสารสกัดจึงมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ส่วนในเรื่องการผลิตประเทศไทยมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว โดยปกติในระดับของอาเซียน ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 1 แต่หากเทียบในระดับภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากเกาหลีและญี่ปุ่น ฉะนั้นอุตสาหกรรมเรื่องของสารสกัดในตอนนี้จึงถือว่ามีแนวโน้มที่ดี เพราะประเทศไทยมีสมุนไพรจำนวนมากและยังมีสารสกัดอีกหลายตัวที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา ซึ่งการจัดโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้ทราบว่า การทำวิจัยของตัวสารสกัดมีหลักเกณฑ์และหัวข้ออะไรบ้างที่ผู้ประกอบการต้องนำไปใช้ในการศึกษาเพื่อให้สารสกัดนั้นสามารถที่จะนำมาใช้ได้ในเครื่องสำอางได้ต่อไป
"สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับการคัดเลือกจำนวน 3 รายที่มีความโดดเด่น มองว่า อันดับแรกเลย คือ ตัวสารสกัดจะต้องมี Marketing Story เพราะเป็นสิ่งแรกที่คนจะสนใจ ถัดไปคือการทดสอบในเรื่องความปลอดภัย สารที่ใช้จะต้องมีการทดสอบความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานว่าต้องทดสอบหัวข้ออะไรบ้าง และสุดท้ายคือเรื่องการทำ Efficacy tests ซึ่งอาจเป็นการทำในหลอดทดลองหรือการทำในอาสาสมัคร ต้องอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการสามารถที่จะดึงทั้ง 3 ส่วนขึ้นมานำเสนอให้กรรมการเห็นได้ไหมว่า สินค้าของตนเองเป็นสินค้าที่มีทั้งใบรับรอง certificate และมีการตลาดที่น่าสนใจ" ผศ.ดร.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยกุล กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.