เริ่มแล้วกับงานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย อย่าง Thailand LAB INTERNATINAL 2020 จัดโดย วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค พร้อมผู้สนับสนุนหลักอย่างสมาคมการค้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพร้อมกับคอนเซ็ปใหม่เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมฉลองครบรอบ 10 ปี ด้วยการจัดงานในรูปแบบ Hybrid Edition โดยความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS นำมาสู่การเปิดตัวงาน Bio Asia Pacific 2020 เป็นครั้งแรก ในรูปแบบ Virtual & Live เน้นงานประชุมสัมมนาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อม ๆ ไปกับการจัดกิจกรรมต่อยอดธุรกิจและการประชุมสัมมนาที่ไบเทค โดยมุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเครื่องมือและนวัตกรรมในห้องปฏิบัติการสมัยใหม่ สำหรับการจัดงานในครั้งนี้คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและช่วยให้เกิดการขยายตัวของการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมในไตรมาสสุดท้ายของปี
วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย คุณกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการฝายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), คุณชัยรัตน์ แสงจันทร์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และบริหารองค์กร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน), คุณสุวรรณ พงษ์สังข์ นายกสมาคมการค้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, คุณ ไฮโก เอ็ม ซตุสซิงเงอร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เข้าร่วมงาน
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงาน Thailand LAB INTERNATINAL 2020 ซึ่งเป็นปีที่ 10 และงาน Bio Asia Pacific 2020 ที่เป็นงานสำคัญมาก เป็นการจัดนิทรรศการนานาชาติทางด้านเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และในแง่ของเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ครั้งสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ ขณะนี้อุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมทางด้านชีวเวชศาสตร์ การดูแลรักษาสุขภาพ เทคโนโลยีต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญกับประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายที่เรียกว่าเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจทางด้านสีเขียว ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันสำคัญของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นการแสดงถึงความแข็งแกร่งของประเทศไทยและศักยภาพของประเทศไทย ในแต่ละปีอุตสาหกรรมทางด้านนี้มีขนาดประมาณปีละ 9 แสนล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก พร้อมทั้งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 10% ต่อปี โดยจะกลายเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ด้าน คุณชัยรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และบริหารองค์กร และรักษาการผู้อำนวยการ TCELS เผยว่า สำหรับการจัดงาน Bio Asia Pacific 2020 ในปีนี้จัดเป็นลักษณะของ Hybrid เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน TCELS ได้จัดงานนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในแง่ของความร่วมมือที่ TCELS สนับสนุนทางด้านงานวิจัยเพื่อจะขยายผล ณ ตอนนี้ถือว่าเป็นจุดสนใจของทั่วโลก เพราะทางด้านต่างประเทศมีความสนใจว่าประเทศไทยมีมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขอย่างดี และทำให้หลายภาคส่วนระดมการสนับสนุน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะผลิตบุคลากรเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนด้านชีววิทยาศาสตร์และสาธารณสุข ส่วนการที่จะให้นักลงทุนได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการขับเคลื่อนและการสนับสนุนทางด้านเงินทุนของ Startup ต่างๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในประเทศของเรา
สำหรับภาคเอกชนด้านศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือจัดตั้ง “อมตะเมดิทาวน์” เพื่อก่อตั้งเมืองการแพทย์นานาชาติครบวงจรแห่งแรกในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC (Eastern Economic Corridor) ภายในเขตพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมถึงมีความร่วมมือด้านการผลิตยาและชิ้นส่วนการแพทย์ ด้านการศึกษาและวิจัย โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับ World Class Medical Hub แห่งหนึ่งของโลกในเขตพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี
นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือในการจัดตั้ง Thailand Life Science Cluster (TISC) เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์ที่ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม Life Science ตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันวาระ หรือสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างที่รองรับสำหรับอุตสาหกรรม Life Science ของประเทศ โดยมีพันธกิจในการสร้างเครือข่ายของสมาชิก cluster ที่เกี่ยวข้องกับ Life Science Value Chain เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ครบวงจรอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างระบบนิเวศน์ Life Science ที่ครบถ้วน โดยเชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์อื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล และเป็นกระบอกเสียงของสมาชิก cluster ในการขับเคลื่อนนโยบายและกฎระเบียบระดับประเทศ ผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโต นอกจากนี้สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างเครือข่ายพันธกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ อาทิ กิจกรรม Networking events เช่น การจัด Symposium, Business matching, Knowledge sharing การจัดคณะเข้าร่วมงาน international BIO events: BIO International, BIO Europe, BIO Asia-Pacific, Bio Japan, Bio Taiwan, Bio Korea / กิจกรรม Pitching เปิดโอกาสให้เกิดการลงทุน / การระดมทุนต่างๆ และ การพัฒนาให้เกิด sub-clusters โดยในระยะเริ่มต้นทีเซลส์ (TCELS) จะรับหน้าที่เป็น Cluster Manager
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมงานได้ระหว่างวันที่ 28 - 30 ตุลาคม 2563 ณ ฮอลล์ 103 - 104 ไบเทค กรุงเทพ ระหว่างเวลา 10:00 - 17:00 น. ตลอด 3 วันของการจัดงาน สามารถลงทะเบียนหน้างานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เพื่อรับชมการถ่ายทอดงานสัมมนาที่ท่านสนใจและเยี่ยมชมงานเสมือนจริง ติดตามข่าวสารการจัดงาน ได้ทาง www.thailandlab.com และ www.bioasiapacific.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-111-661 1
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.