โควิด – 19 โรคระบาดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV-2 ที่คร่าวชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเร่งคิดค้นและผลิตวัคซีนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และได้เริ่มใช้วัคซีนป้องกันโควิดในบางประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อังกฤษเป็นประเทศแรก รวมถึงแคนาดาที่ประกาศใช้วัคซีนโควิดที่ผลิตจากบริษัท Pfizer-BioNTech อย่างเป็นทางการ ตามด้วยบาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อนุมัติการใช้วัคซีนโควิดที่ผลิตจากบริษัท Sinopharm ของจีน และสหรัฐฯ ประกาศใช้วัคซีนโควิดที่ผลิตจากบริษัท Pfizer-BioNTech อย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน (https://www.nature.com/articles/d41586-020-03563-z) เรามารู้จักวัคซีนโควิดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ร่างกายของคนเราจะมีต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเชื้อโรค เช่น ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิดเข้ามารุกราน หรือที่เรียกว่าการติดเชื้อนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเข้าโจมตีเชื้อและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อที่เข้ามารุกราน โดยฮีโร่หลักในระบบภูมิคุ้มกันคือ เซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ผลิตและต่อสู้กับการติดเชื้อในรูปแบบต่างๆ:
o Macrophages เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่กลืนและย่อยเซลล์เชื้อโรค รวมถึง เซลล์ที่กำลังจะตายหรือที่ตายแล้ว โดย Macrophages จะทิ้งส่วนของเชื้อโรคที่บุกรุก หรือเรียกว่าแอนติเจนไว้ เพื่อให้ร่างกายจดจำว่า แอนติเจนนี้เป็นอันตรายและกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีโจมตี
o B-lymphocytes เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกัน โดยผลิตแอนติบอดีที่โจมตีชิ้นส่วนของไวรัสที่ Macrophages ทิ้งไว้
o T-lymphocytes เป็นอีกประเภทของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ป้องกัน โดยโจมตีเซลล์ในร่างกายที่ติดเชื้อแล้ว
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ร่างกายอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในการสร้างและให้เวลากับเม็ดเลือดขาวเหล่านี้ต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งหลังจากการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจดจำเชื้อโรค และวิธีป้องกันร่างกายจากโรคนั้น ร่างกายจะเก็บ T-lymphocytes ไว้ 2 – 3 เซลล์ที่เรียกว่า เซลล์ความจำ (memory cells) หากร่างกายติดเชื้อตัวเดิมอีกครั้ง หรือตรวจพบแอนติเจนที่เคยเจอมาก่อน B-lymphocytes จะสร้างแอนติบอดีเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ สำหรับเชื้อไวรัสโควิด – 19 ผู้เชี่ยวชาญยังคงศึกษาว่าเซลล์ความจำสามารถปกป้องบุคคลจากไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด – 19 ได้นานเพียงใด
วัคซีนทำงานอย่างไร
การฉีดวัคซีนเป็นที่ทราบโดยทั่วไป คือ การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโดยที่เราไม่ต้องเจ็บป่วย วัคซีนประเภทต่างๆ ทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ วัคซีนทุกประเภทจะช่วยให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว และเหลือ T-lymphocytes เป็นหน่วยความจำ และ B-lymphocytes ซึ่งจะจดจำวิธีต่อสู้กับเชื้อนั้นในอนาคต
โดยปกติร่างกายจะใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์ในการผลิต T-lymphocytes และ B-lymphocytes หลังการฉีดวัคซีน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่คนเราอาจติดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด – 19 ก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนแล้วป่วยเนื่องจากวัคซีนไม่มีเวลาเพียงพอในการป้องกัน หรือในบางรายหลังการฉีดวัคซีน กระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันอาจทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ อาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกัน
ประเภทของวัคซีนโควิด – 19
ปัจจุบันวัคซีนโควิด – 19 มีอยู่ 3 ประเภทหลักที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก ระยะที่ 3 ในสหรัฐฯ โดยวัคซีนทั้ง 3 ประเภทนี้กระตุ้นให้ร่างกายของเรารับรู้และปกป้องเราจากไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด – 19 โดยไม่ก่อให้เกิดโรคจากการฉีดวัคซีน
Ø mRNA vaccines ผลิตจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของไวรัส เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้
Ø Protein subunit vaccines เป็นการใช้โปรตีนที่ไม่เป็นอันตรายบางส่วนของเชื้อ เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะตรวจพบว่าไม่ใช่ชิ้นส่วนโปรตีนของร่างกาย และจะเริ่มสร้างแอนติบอดีต่อสู้กับเชื้อไวรัส
Ø Vector vaccines โดยแทรกสารพันธุกรรมจากไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด – 19 เข้าไปในไวรัสที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตราย (ซึ่งเป็นไวรัสคนละตัวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด – 19) ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า viral vector และเมื่อร่างกายได้รับวัคซีนนี้เข้าไป จะสร้างแอนติบอดีเช่นเดียวกับวัคซีน 2 ประเภทข้างต้น
การพัฒนาวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะเวลาอันสั้นนี้ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งสำหรับความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า วัคซีนจะมีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดนี้ แต่ทั้งนี้ หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขยังคงย้ำให้รักษามาตรการป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากาก และการรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นต้น ซึ่งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดโอกาสที่จะสัมผัสกับไวรัสหรือแพร่กระจายไปยังผู้อื่น
ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด – 19 ต้องยกย่องให้กับความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ทำให้มีการคิดค้นวัคซีนขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับทั่วโลก วัคซีนจะช่วยป้องกันและลดความตึงเครียดของสถานการณ์ในปัจจุบันแต่ทั้งนี้ วัคซีนจึงยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ไขปัญหา WHO ได้เปิดเผยว่า เชื้อโควิด – 19 อาจอยู่ร่วมกับมนุษย์เราตลอดไป ถ้าแม้ว่าจะมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด – 19 แล้วก็ตาม ในขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะอยู่ยาวนานเพียงใด เราต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปีเช่นเดียวกันไข้หวัดใหญ่หรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในตอนนี้ คือ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การต่อสู้กับเชื้อโควิด – 19 ยังไม่จบลงง่ายๆ นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องพัฒนาและหาคำตอบอีกมากมาย เพื่อก้าวให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส
ที่มา : สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ostdc.org/th/news/covid-19-vaccine
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.