สถาบันวิทยาลัยชุมชน จับมือ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นำร่อง 6 วชช. สมาพันธ์ฯ อีก 5 จังหวัด พร้อมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของจังหวัดเพื่อผลิตคนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในท้องถิ่น “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. หนุน วชช. ผลิตเอสเอ็มอีให้สร้างงานศิลปท้องถิ่นเสริมการท่องเที่ยวช่วยอุตสาหกรรมไทย
8 กุมภาพันธ์ 2564 : ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เป็นประธานลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันวิทยาลัยชุมชน (วชช.) กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า วิทยาลัยชุมชนเป็นสมาชิกใหม่ของ อว. เร็วๆ นี้ได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ คือด้านการสร้างช่างศิลปท้องถิ่น เพื่อสร้างศิลปวัฒนธรรมและวิชาชีพให้จังหวัดและส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงนามความร่วมมือถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาลัยชุมชน สร้างความรู้ใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมไปจนถึงอุตสาหกรรมศิลป ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมของประเทศไทยดีขึ้น ประเทศไทยมีบริษัทเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ จำนวนไม่น้อย ถือว่าทำเรื่องสำคัญเพราะถ้าประเทศมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ประเทศไทยจะไปไม่รอด ดังนั้น เอสเอ็มอี หรือ สตาร์ทอัพ จึงสำคัญมาก แต่ขอให้ใช้วิทยาการให้มากขึ้น อย่าใช้แต่ความเคยชิน
ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า สถาบันวิทยาลัยชุมชนมีวิทยาลัยชุมชน 20 แห่งตั้งอยู่ตามพื้นที่ชายแดนชายขอบที่ยากจนที่สุดของประเทศ มีนักศึกษาระดับอนุปริญญาประมาณ 1.4 หมื่นคน ทั้งนี้ ความร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2566 (ระยะเวลา 2 ปี 10 เดือน) โดยจะมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของจังหวัด เพื่อผลิตคนสู่ท้องถิ่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในท้องถิ่น เบื้องต้นจะมีการนำร่องความร่วมมือใน 6 จังหวัดที่มีวิทยาลัยชุมชน ได้แก่ แพร่ บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู ยโสธร ตราด และสงขลา ส่วนอีก 14 แห่งที่เหลือจะมีการขยายพื้นที่ดำเนินการตามที่จะตกลงร่วมกันต่อไป นอกจากนำร่อง 6 แห่งในส่วนของวิทยาลัยชุมชนแล้ว สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยังจะสนับสนุนการทำงานของนักศึกษาที่ศึกษาในพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งนอกพื้นที่นำร่องอีก 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี และอุดรธานี ด้วย สถาบันฯ คาดหวังว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ สถาบันฯ สามารถผลิตนักศึกษาได้ตรงกับความต้องการของตลาด
“เท่ากับในระยะเริ่มต้นจะมีพื้นที่นำร่องในการดำเนินการ 11 พื้นที่ ได้แก่ แพร่ บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู ยโสธร ตราด สงขลา ลำปาง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี และอุดรธานี โดยทั้ง 11 พื้นที่ วิทยาลัยชุมชนและสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะทำงานเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และยุทธศาสตร์ของ อว. เรื่อง การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากด้วย อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยมีเป้าหมาย คือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยมีตัวชี้วัด คือ จำนวนชุมชน/ท้องถิ่นที่ อววน. เข้าไปช่วยพัฒนา” นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าว
ขณะที่ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ มีเครือข่ายเอสเอ็มอีใน 76 จังหวัดและ ลงลึกไปในระดับอำเภออีก 882 แห่ง และมีการดำเนินการไปถึงระดับชุมชนความร่วมมือในครั้งนี้ คือ จะนำกลไกของสมาพันธ์ไปร่วมวางแผนจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับชุมชน นำนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนมาฝึกอบรม ฝึกงานกับสมาพันธ์ฯ เพราะการจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ จะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ มีประสบการณ์การทำงาน ซึ่งไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ต้องมาทำงานร่วมกัน ภายหลังสิ้นสุดความร่วมมือนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน สามารถมี 3 ทางเลือก คือ ไปเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ไปทำงานในองค์กรของรัฐหรือเอกชนและศึกษาต่อ.
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโทรศัพท์
0 2039 5609 Facebook : @opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.