กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG สนับสนุน ส่งเสริม สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง สังคมยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรูปธรรม ชูผลสำเร็จการจัดการขยะชุมชนครบวงจรและสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาคของไทย ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ชลบุรี เชียงราย และหนองคาย โดยขยายผลความสำเร็จจากโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี “ตาลเดี่ยวโมเดล” สามารถสร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 10,000,000 บาทต่อปี พร้อมมุ่งขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศต่อไป
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม บูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นระดับ อบต. และจังหวัด ในการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นโครงการนำร่องและขยายผลความสำเร็จในการจัดการขยะขนาดเล็ก ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาคของไทย ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ชลบุรี เชียงราย และหนองคาย ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้นโยบาย BCG ของรัฐบาล โดยมีการใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ โดยใช้นวัตกรรมการแปรรูปเป็นวัตถุดิบรอบสอง เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูงและใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากของเหลือทิ้งเพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs)
มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มขยะพลาสติกโดยการแปรรูปด้วยนวัตกรรมให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนและน้ำเสียอย่างครบวงจร เพื่อใช้ในการศึกษาดูงานต่อการจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืนทั้งระบบการคัดแยกและแปรรูป ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นศูนย์กลางในการคัดแยกและจัดการขยะชุมชนขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยี โดย วว. มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีและบุคลากร ที่พร้อมให้บริการ ให้คำแนะนำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ
เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนผลงานการพัฒนาของ วว. ที่นำไปใช้เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วยเครื่องคัดแยกขยะรองรับปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่กำลังการผลิต 20-40 ตันต่อวัน พร้อมด้วยระบบกำจัดกลิ่นขยะ ระบบคัดแยกชนิดและสีพลาสติกบรรจุภัณฑ์ เพื่อแปรรูปเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดมลพิษทางน้ำ และระบบการบำบัดน้ำชะขยะโดยใช้สารเร่งตกตะกอนจากผลงานวิจัยของ วว. ระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดิน 2. ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision สามารถแยกพลาสติก PVC ออกจากพลาสติกชนิดอื่นได้ และผลิตเกล็ดพลาสติกที่สะอาดมีคุณภาพ และ 3. นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ประกอบด้วยระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง ระบบผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ และระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF5) เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี “ตาลเดี่ยวโมเดล” เป็นรูปแบบของการบริหารจัดการขยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูปซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึง สามารถดำเนินการได้เอง จนทำให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งเป็นความสำเร็จแรกของ วว. ในการนำเทคโนโลยีไปดำเนินงานจัดการขยะชุมชนครบวงจร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว จังหวัดสระบุรี ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 490 – 754 TonCO2eq ต่อเดือนต่อแห่ง เทียบกับการบริหารจัดการแบบเดิม
โดยศูนย์ต้นแบบนี้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตเกล็ดหรือเม็ดพลาสติกรีไซเคิล มากกว่า 40 ตัน/สัปดาห์ สามารถสร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 10,000,000 บาท/ปี/แห่ง มีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 10 ราย และขยายภาคธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจในการคัดแยกและแปรรูปขยะไม่น้อยกว่า 3 ธุรกิจ หากผลักดันให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กทั่วประเทศ กว่า 6,000 แห่ง จะก่อให้เกิดเม็ดเงินของธุรกิจรีไซเคิลเพื่อแปรรูปกว่าหมื่นล้านบาท สร้างธุรกิจขนาดย่อยเกิดการจ้างงานคนต่อการคัดแยกและแปรรูปกว่า 100,000 ราย ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูงจากขยะพลาสติกและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ลดปัญหาฝุ่นและ PM2.5 สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเชื้อเพลิงขยะถึง 15 เท่า เกิดรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (HQRDF) ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อปีต่อแห่ง หากขยายผลให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กทั่วประเทศ กว่า 6,000 แห่ง จะคิดเป็นรายได้ให้แก่หน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพสูงทดแทนการนำเข้าถ่านหินไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้ทางธุรกิจจากการขายผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปขยะ อาทิ ผลิตภัณฑ์ถ่านหอม 3 in 1 และชอล์กไล่มด ซึ่งชุมชนมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนกว่า 240,000 บาท/ปี/แห่ง เกิดกิจกรรมบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในเขตการจัดการขยะชุมชนขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ภายหลังจากการคัดแยก ได้ถูกนำมาใช้เป็นเส้นใยสิ่งทอ การผลิตเชื้อเพลิงคุณภาพสูงให้แก่อุตสาหกรรมกระดาษ และการผลิตสารปรับปรุงดินจากขยะเศษอาหาร และการนำพลาสติกเก่ามาผลิตยางมะตอยในการปูถนน เป็นต้น จากความสำเร็จของศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว ได้มีการขยายผลการพัฒนาระบบจัดการขยะขนาดเล็ก โดยมุ่งการใช้ วทน. เพื่อแก้ปัญหาการคัดแยกขยะขนาดเล็ก เช่น การจัดการธนาคารขยะ สหกรณ์ขยะ ซึ่งมักจะคัดแยกแต่ไม่สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ การพัฒนาเป็นต้นแบบเครื่องจักรการคัดแยกขยะขนาดเล็ก การแปรรูป และบำบัดเพื่อย่อส่วนให้ชุมชนสามารถดำเนินการจัดการและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์วัตถุดิบรอบสอง และเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง รวมถึงการพัฒนาให้ชุมชนสร้างผลิตภัณฑ์นวัตอัตลักษณ์ขยายผลให้แก่ 3 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดชลบุรี เชียงราย และหนองคาย สามารถสร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนทั้ง 3 ภูมิภาคกว่า 3 ล้านบาทต่อปี ลดปริมาณขยะทั้ง 3 แห่ง สามารถลดภาระการจัดการขยะได้ไม่น้อยกว่า 2,160 ตันต่อปี
โครงการส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้าน วทน. มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบการเชื่อมโยงเครือข่าย Quadruple Helix เพื่อการพัฒนาแนวทางการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเปลือกหอยนางรม จังหวัดชลบุรี วว. ดำเนินงานร่วมกับเทศบาลเมืองแสนสุข วิสาหกิจชุมชนเขาสามมุข และชุมชนเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา “หินกรองตู้ปลาบำบัดน้ำจากเปลือกหอย” หรือ “ตู้ปลามีชีวิต” ซึ่งเป็นนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากเปลือกหอยนางรม โดยใช้ วทน. เข้ามาจัดการขยะชุมชน ช่วยลดปริมาณขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตอัตลักษณ์ในพื้นที่
โดยผลิตภัณฑ์มีจุดเด่น ดังนี้ 1.เปลือกหอย ประกอบด้วย แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เปลี่ยนให้เป็นสารที่มีคุณสมบัติบำบัดน้ำได้ 2.เป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มจากเปลือกหอย ที่นำมาพัฒนาเป็นหินกรองตู้ปลา มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกำจัดแอมโมเนียและฟอสเฟตในน้ำได้ และ 3.นำผลิตภัณฑ์มาใช้ซ้ำได้ 3 ครั้ง โดยภายหลังเลิกใช้งานสามารถนำไปเป็นวัสดุปรับสภาพดินได้ ผลงานวิจัยพัฒนานี้มีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจคือ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 120,000 บาทต่อปี รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคม คือ 1.ชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้การจัดการขยะและของเหลือทิ้งเชิงพื้นที่ 2.ชุมชนนำแนวคิด ความรู้ ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมคือ ช่วยลดปัญหาจากกลิ่นและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการกองทิ้งเปลือกหอยนางรม และเถ้าจากชีวมวล
โครงการส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในการพัฒนาแนวทางการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดย วว. ดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และบริษัทเชียงราย ยูไนเต็ด คลับ จำกัด ประสบผลสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะในเสวียน อาทิเช่น ใบไม้ ของเหลือทิ้งภาคการเกษตร รวมถึงพลาสติกในชุมชน นำมาพัฒนาเป็นสูตรผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงจากขยะคุณภาพสูง (Refuse Derived Fuel : RDF) เพื่อมุ่งหวังไม่ให้เกิดการลักลอบเผาของเหลือทิ้งภาคการเกษตร โดยเชื้อเพลิงขยะ (RDF5) นี้ มีค่าความร้อนสูงกว่าหรือมีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่าการนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมาใช้โดยตรง (RDF2) เนื่องจากมีองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพสม่ำเสมอกว่า อีกทั้งง่ายต่อการจัดเก็บ การขนส่ง การจัดการต่างๆ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ โดยสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 80,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ วว. ยังได้ถ่ายทอดความรู้/เทคโนโลยีให้แก่ชุมชนในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งนำเชื้อเพลิงขยะไปใช้ทดแทนพลังงานความร้อนในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดเชียงรายและขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้เป็นจังหวัดปลอดขยะในอนาคต พร้อมเป็นต้นแบบการใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรม
“...นอกจากการสร้างรายได้โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะชุมชนดังกล่าวแล้ว วว. ยังได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝึกอบรมการเรียนรู้การคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกเหลือทิ้งอย่างครบวงจรในระดับหน่วยงานท้องถิ่น จัดทำศูนย์ฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะชุมชนและน้ำเสียที่เกิดจากขยะให้เกิดประโยชน์โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มและพลังงานทดแทนชีวภาพ ร่วมกับการจัดฝึกอบรม โดยที่ผ่านมา มูลนิธิรักษ์ไทย ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซันโทรี เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ดำเนินการจัดฝึกอบรม ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ผู้นำชุมชน และโรงเรียน เพื่อเสริมศักยภาพชุมชนในเรื่องการจัดการและการเพิ่มมูลค่าขยะอีกทั้ง วว ยังดำเนินการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการและเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านกระบวนการผลิตร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
วว. พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับเทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนด้วย วทน. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th www.tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.