เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการทำงานเพื่อชุมชนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้า (อว.ส่วนหน้า) และโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างแก้วให้ประเทศ (U2T) รวมถึงงานบริการรับใช้ประชาชนตามภารกิจของ มรภ. ชี้มีผลงานเชิงประจักษ์ที่น่าชื่นชมและสนใจยิ่ง ทั้งการวิจัยในบริบทพื้นที่จนเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อแนวทางออกการจัดการที่ดินทำกินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ใน อ.เขาค้อ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยกลุ่มชาวบ้านในโครงการ U2T เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปสินค้าเกษตรใน ต.นาป่า อ.เมืองเพชรบูรณ์ พร้อมนี้ที่ปรึกษา รมว. เห็นด้วยกับทิศทาง มรภ. ที่จะจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบการปนเปื้อน โดยจะหนุนเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดเป็นภาพลักษณ์เมืองแห่งผักและผลไม้ปลอดภัยของจังหวัดต่อไป
รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวง อว. ที่ต้องการผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นมากขึ้น บนพื้นฐานของการนำนวัตกรรมและงานวิจัยเข้าไปปรับใช้ในชุมชน ด้วยตระหนักว่า สิ่งที่นำเข้าไปช่วยเหลือนั้นต้องเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการจริงๆ และไม่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขามากเกินไปนัก เกิดเป็นโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ หรือ U2T โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏถือว่ามีส่วนสำคัญยิ่ง เพราะมีบทบาทในการให้บริการและรับใช้ประชาชนและสังคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ร่วมขับเคลื่อนดำเนินโครงการ U2T และ อว.ส่วนหน้า
ปรึกษาฯ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของโครงการ U2T ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานที่ ต.นาป่า อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งคณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.เพชรบูรณ์ เข้าไปช่วยในโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปผลผลิตของกลุ่มเกษตร ต.นาป่า ได้รับเสียงสะท้อนจากบัณฑิตจบใหม่ นักศึกษา และประชาชนที่ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T พื้นที่ ต.นาป่า ทุกคนต่างเห็นพ้องว่า U2T เป็นโครงการที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาหาข้อมูลความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งตนเป็นคนในพื้นที่อาจจะยังไม่เคยรู้ปัญหาและความต้องการจริง ๆ ของชุมชนมาก่อน เช่น วิสาหกิจชุมชนหลายอย่างเป็นของผู้สูงอายุ ถ้าไม่มีเด็ก ๆ รุ่นใหม่มาช่วยทำช่วยต่อยอดจะไม่ยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์หมูฝอย สินค้าเกษตรอย่างแปรูปอย่างมะขาม กระท้อน มะยงชิด เป็นต้น รวมถึงโครงการภาครัฐที่เข้ามามักมีระยะสั้นช่วยได้เพียงต้นน้ำ ควรมีระยะยาวเพื่อให้สามารถต่อยอดไปยังกลางน้ำและปลายน้ำได้ เช่น การออกแบบแพคเกจจิ้ง การตลาด ในการนี้ ผศ.ดร.ประยูร ลิ้มสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มองว่า นี่คือบทบาทและตัวตนที่แท้จริงของ มรภ.เพชรบูรณ์ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดชุมชน จึงเห็นความสำคัญของการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เกิดเป็นแนวคิดทำ PCRU Mall ตอบโจทย์ปัญหาในเรื่องปลายน้ำ โดย อ.จักษ์ กล่าวด้วยว่า สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ที่จะจัดตั้งให้มี University as a Marketplace หรือขั้วความเจริญเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เนื่องจากงบประมาณทั้งในส่วนของ อว. และในส่วนของบุคลากรของ อว. เองสามารถผลักดันให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้ ทั้งในส่วนของตลาดกายภาพ ตลาดออนไลน์ หรือการพัฒนาศักยภาพของผู้ขายในตลาดได้
“ท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. ท่านอยากเห็นสิ่งที่ มรภ.เพชรบูรณ์ ทำอยู่กับ ต.นาป่า ในหลาย ๆ พื้นที่ เพราะโครงการ U2T ไม่ได้ต้องการไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน แต่ทางมหาวิทยาลัยจะเข้าไปช่วยออกแบบและหนุนเสริมสิ่งที่ชาวบ้านขาดแคลนและร้องขอ เช่น ปัญหาแมลงในพืชไร่ ปัญหาราในส้มโอ เป็นต้น โดย กระทรวง อว. มีองค์ความรู้ต่าง ๆ มากมายที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ โดยท่าน รมว. ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมาก จะทำอะไรควรทำบนพื้นฐานงานวิจัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นเป็นสำคัญ” อ.จักษ์ กล่าวเน้นย้ำ
ด้าน นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาที่ดินทำกิน อ.เขาค้อ อ.น้ำหนาว และภูทับเบิก ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปัญหามลภาวะจากการเผาอ้อย และปัญหาโรงแรมที่พักในเขตพื้นที่ อ.เขาค้อ ซึ่งในเรื่องที่ดินทำกินเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนับแต่ประวัติศาสตร์ ทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือมายัง มรภ.เพชรบูรณ์ เพื่อช่วยในการทำวิจัยในระยะเวลาเร่งด่วนเพียง 2 เดือนเศษ สามารถทำวิจัยที่สามารถรวบรวมและนำเสนอข้อเสนอแนะต่อทางจังหวัดได้ โดยทางจังหวัดจะนำไปใช้ประกอบการพิจารณานำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังมุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร เพื่อให้มีความปลอดภัยจากสารเคมีจากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภค โดยขอความร่วมมือให้ มรภ.เพชรบูรณ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยสภาพปัญหาและการหาแนวทางแก้ไขเรื่องสารปนเปื้อนต่าง ๆ
โดยในเรื่องนี้ อ.จักษ์ ได้ลงพื้นที่ อบต.เขาค้อ เพื่อรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินในการประกอบธุรกิจโรงแรมสถานที่พักและการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีศึกษา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์” ที่ มรภ.เพชรบูรณ์ ทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ พร้อมกล่าวชื่นชม มรภ.เพชรบูรณ์ ถึงการทำหน้าที่บริการและรับใช้ประชาชนในด้านการวิจัยเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เพราะผลงานวิจัยที่ได้สามารถนำไปใช้งานได้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจสถานที่พัก ที่ไม่สามารถดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน และในส่วนของการการส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจรของจังหวัด อ.จักษ์ เห็นด้วยกับ มรภ.เพชรบูรณ์ ที่จะพัฒนาให้เกิดศูนย์การตรวจสอบสารปนเปื้อนจากผลิตภัณฑ์การทางเกษตร พร้อมเน้นย้ำจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในส่วนขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการตรวจสอบสารปนเปื้อนในผักและผลไม้ เพราะอยากเห็นภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เป็นเมืองแห่งผักและผลไม้ที่ปลอดภัย เป็นครัวอีกแห่งที่สำคัญของประเทศไทยได้
นอกจากนี้ อ.จักษ์ ยังได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินโครงการยุวชนอาสา ในกิจกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปสมุนไพรอินทรีย์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านไร่สีอำพันแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น นำเทคโนโลยีโรงเรือน ปลูกพืชบนแคร่หรือการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ด้วยหลักคิดใช้การทำไร่นาสวนผสม ที่มีพื้นที่ป่ามากกกว่า เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของจังหวัด
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.