เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มพันธมิตรนักลงทุนและนักวิจัยจัดงานแถลงข่าว การร่วมลงทุนใน บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดในการรักษาผู้ป่วย โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Chimeric antigen receptor(CAR) T-cell ที่ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว
เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวต่อไปในอนาคตและเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงความยินดีผ่านวิดีทัศน์ พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีการเสวนาพิเศษ ให้ความรู้หัวข้อ “บทบาทของโรงเรียนแพทย์ กับการพัฒนานวัตกรรมเซลล์และยีนบำบัด สำหรับรักษาโรคมะเร็ง”
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านกลไกการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการและนักลงทุน ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเชื่อมโยงให้ภาคเอกชนเข้าถึงผลงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ การร่วมลงทุนก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ โดยที่ผ่านมา สวทช. ผลักดันและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผ่านการร่วมจัดตั้งธุรกิจเทคโนโลยี และการร่วมลงทุนในบริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ในครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการนำผลงานวิจัยและพัฒนามาใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาโดยใช้จุดแข็งของประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
“การร่วมทุนจัดตั้งบริษัทฯ เป็นผลมาจากการที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ. สุรเดช หงส์อิง และคณะ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาและกุมารเวช ได้ศึกษาค้นคว้าการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องการความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคธาลัสสิเมีย โดยได้ขอรับทุนวิจัยจากหลายแหล่งทุน เช่น สวทช. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เป็นต้น เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จในการคิดค้นการรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัดในผู้ป่วยธาลัสซีเมียและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งจากความสำเร็จในการศึกษาค้นคว้านี้ จึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สวทช. กลุ่มนักวิจัยและนักลงทุน เพื่อนำผลงานวิจัยไปขยายผลเชิงพาณิชย์”
รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมทุนของ สวทช. ในครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้เกิดการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยในอันดับแรกจะผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัด (CAR T-cell) สำหรับการรักษาโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับเลือดเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ซึ่งการตั้งบริษัทเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีใหม่นี้มาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียในการรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัด
นายสมโภชน์ อาหุนัย ในฐานะนักลงทุนในบริษัท เจเนพูติก ไบโอ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ที่เราต้องเผชิญกับโรคภัยที่มีความรุนแรง และยากที่จะรับมือขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาศาสตร์ต่างๆ มาใช้บำบัดรักษาโรคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง โรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมาก แม้ว่าส่วนตัวจะอยู่ในสายธุรกิจด้านพลังงานสะอาดมาโดยตลอด แต่ก็มีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ ในหลากหลายด้าน เพราะนั่นคือเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ก็เป็นอีกหนึ่งด้านที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่า โครงการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้กับมนุษยชาติต่อไปในระยะยาวได้
“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้า เพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมของฐานการผลิต รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเซลล์และยีนบำบัด ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้บำบัดรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง ทำให้การแพทย์เฉพาะบุคคลเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับ ช่วยเพิ่มโอกาสและทางเลือกการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยโดยคนไทยได้ต่อไปในอนาคต”
ด้าน นายวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการตัดสินใจร่วมลงทุนในครั้งนี้ว่าบริษัทไทยฟู้ดส์ พิจารณาแล้วว่าจะช่วยส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากในปัจจุบันได้มากขึ้น และคนไทยทุกคนสามารถใช้ยาใหม่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ
“ปัจจุบันกลุ่มบริษัทไทยฟู้ดส์มีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการส่งออกในระดับสากล ในด้านคุณภาพและ ปลอดภัย กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังคงเน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น งานวิจัย Plant Base Meat และ Cell Meat ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค”
ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด กล่าวถึงที่มาของการร่วมทุนครั้งนี้ว่า ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากความสามารถและความทุ่มเทของนักวิจัยไทยเป็นหลัก ประกอบด้วยการเข้ามาสนับสนุนของโรงเรียนแพทย์และสถาบันวิจัย ตลอดจนแหล่งทุนและหน่วยบริหารจัดการเทคโนโลยีของรัฐตั้งแต่ต้น และล่าสุดเพิ่งได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
“เจเนพูติก ไบโอ เพิ่งจะเริ่มก่อตั้ง เป็นไบโอเทค สตาร์ทอัพของไทย เราต้องการตอบโจทย์คนไข้โรคมะเร็งที่ใช้ยาทั่วไปไม่ได้ผลหรือโรคย้อนกลับมาใหม่ก่อน จากนั้นจึงรักษาโรคพันธุกรรมที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายถาวร เซลล์และยีนบำบัดเป็นทางเลือกใหม่ของพวกเขา เราเน้นความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์และสถาบันวิจัยของไทยทุกแห่ง โดยจะเป็นผู้รับดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยในห้องทดลองสู่การผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐานสากล ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในระดับคลินิก แล้วขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์เฉพาะบุคคล
เราคาดว่าจะสามารถเข้าสู่การทดลองในคนได้ในปีหน้า โดยจะใช้คนไข้ประมาณ 20 คน และผลิตภัณฑ์จะขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างเป็นทางการในอีกราว 3-4 ปีจากนี้ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ความสำเร็จของเราจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการตัดสินใจร่วมทุนในวันนี้
ข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.