เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 : นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ นำทีมคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินทางส่งมอบ “เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส” ที่ผ่านการรับรองค่าความถูกต้องแม่นยำแล้ว (Calibration & Certified by NIMT) แด่ รศ.นพ. วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช พร้อม นพ.ลือชา บุญทวีกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และคณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตามโครงการ ให้บริการสอบเทียบ “เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส” แก่สถานพยาบาลและหน่วยบริการประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (รายละเอียดเพิ่มเติมhttp://www.nimt.or.th/main/?p=35114 ) พร้อมรายงานความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมหลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรวิทยา ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาโดยทางสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาตรวิทยาที่มุ่งเน้นการปฏิบัติได้จริง สามารถนำไปใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานเครื่องมือแพทย์รวมถึงห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 พร้อมเสริมสร้างทักษะให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนขับเคลื่อนการสร้างงานวิจัยร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคต่างๆ ในอนาคตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยพิธีจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ อาคารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ
เนื่องจากเครื่องมือทางการแพทย์มีความสำคัญและสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผู้เข้ารับการรักษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรับรองค่าความถูกต้องและเป็นไปตามหลักมาตรวิทยาสากล เพื่อให้เครื่องมือนั้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันเครื่องมือทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชมีความหลากหลายและมีปริมาณที่มาก จึงต้องเน้นหนักและให้ความความสำคัญในเรื่องของความสามารถสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา (Metrological traceability) เพราะเครื่องมือทางการแพทย์จำนวนมากใช้ในการรักษา และวินิจฉัย หากให้ค่าความถูกต้องแม่นยำที่ผิดเพี้ยนต่ำกว่ามาตรฐานจะก่อเกิดความผิดพลาดและอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ นอกจากให้ความสำคัญกับเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว การเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 และสร้างบุคลากรให้มีศักยภาพเพื่อไปสู่มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งสาระสำคัญที่ต้องพัฒนาและยกระดับไปพร้อมๆ กันภายใต้กรอบการทำงานของบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรวิทยาฯ ในครั้งนี้
หลังจากพิธีส่งมอบเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส และการรายงานเสนอความคืบหน้าการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรวิทยาฯ แล้ว นางอัจฉรา เจริญสุข และคณะผู้บริหาร มว. ได้แก่ นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการ ร.ท.อุทัย นรนิ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า น.ส. จรวยรัตน์ เหย่ากุลบดี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง ดร.จรัญ ยะฝา หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ นายวิรุณ เล้าพรพิชยานุวัฒน์ รักษาการหัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล พร้อมคณะนักมาตรวิทยา ได้แก่ นางสุรัตน์ ลีอุดมวงษ์ นักมาตรวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเสียงและการสั่นสะเทือน นายอาณัฐชัย วงค์จักร์ นักมาตรวิทยาชำนาญการ และ นายโสภณรัตน์ รัตนสมบัติ นักมาตรวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานวิเคราะห์ก๊าซ ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ ได้เข้าเยี่ยมชมงานอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Devices Division) ของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำโจทย์ปัญหาที่ได้ไปวางแผนและหาแนวทางแก้ไขตลอดจนหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการให้สามารถรองรับการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ข้อมูล : สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.